24 April 2024


โคราชแชมป์ลงทุนอีสาน อุตฯพลังงานทดแทนยังสดใส ชี้โควิด-19 ทำนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

Post on: Sep 15, 2021
เปิดอ่าน: 418 ครั้ง

 

“บีโอไอ” สรุปผลการลงทุนครึ่งปี64  อีสานล่าง รับอนุมัติ 17 โครงการ มูลค่า 1,277 ล้านบาท โคราชแชมป์ลงทุน 13 โครงการ มูลค่า 1,199 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน เผยอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมาแรง คาดครึ่งปีหลังยังไม่ฟื้นตัว เหตุโควิด-19ระบาดส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

นางสาวทยาภรณ์  ศรีสังข์  ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา) หรือ “บีโอไอโคราช”  เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนใน 6 เดือนแรกของปี 2546 (ม.ค.-มิ.ย.)  ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) โดยการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมลงทุน 801 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2และมีมูลค่าเงินลงทุน 263,840  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ในพื้นที่ 8 จังหวัดของภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของบีโอไอโคราช มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 17 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,277 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซี่งมีโครงการได้รับอนุมัติ  26 โครงการมูลค่าการลงทุน 6,032 ล้านบาท  โดยแยกเป็น นครราชสีมา 13 โครงการ มูลค่า 1,199 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 351 คน, อุบลราชธานี 2 โครงการ มูลค่า 7 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 16 คน, บุรีรัมย์ 1 โครงการ มูลค่า 59 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 13คน และสุรินทร์ 1 โครงการ 12 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1 คน

ในขณะที่การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง 8 จังหวัด เป็นโครงการคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 10 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 59 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน 293 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ส่วนโครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น มี 5 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 29 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน 278 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ส่วนโครงการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ มี 2 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน 706 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55 ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง

สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง 8 จังหวัด แยกเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ 1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการ เงินลงทุน 48 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อใช้พลังงานทดแทน โดยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองในโครงการ 1โครงการ ในจังหวัดอุบลราชธานี และตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต จำนวน 3โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมา 2) มาตรการส่งเสริม SMES  ในเดือนมกราคม–มิถุนายน 2564 มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 2 โครงการ เงินลงทุน 73 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา 1โครงการ เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ และอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี 1 โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง

นางสาวทยาภรณ์   กล่าวอีกว่า โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม–มิถุนายน 2564  มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญ ไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่อีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน  2โครงการ เงินลงทุน 71 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ 1โครงการ เป็นกิจการการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ และอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ 1โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์     

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8จังหวัดทั้ง 17 โครงการในครึ่งปีแรกของปี 2564 จำแนกโดยกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูปและสิ่งปรุงแต่งอาหาร 3 โครงการ และกิจการผลิตอาหารสัตว์ 1 โครงการ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นกิจการสถานพยาบาล 1 โครงการ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง 1 โครงการ และกิจการผลิตเครื่องพิมพ์หน้ากว้างที่สามารถพิมพ์บนกระดาษหน้ากว้าง กระดาษแบบมัน 1 โครงการ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 โครงการ และกิจการผลิต EARPHONE/HEADPHONE และชิ้นส่วนของ ARPHONE/HEADPHONE 1 โครงการ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 5 โครงการ และ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 1 โครงการ 6.กลุ่มอุตสาหกรรมแร่ โลหะ และวัสดุ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ 1 โครงการ และ 7.กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ 1โครงการ

นางสาวทยาภรณ์   กล่าวในตอนท้ายว่า การส่งเสริมการลงทุนครึ่งปี 2564 ภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีกิจการที่ยังคงได้รับความสนใจที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง คือกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากสำนักงานได้มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ ลงทุนต่อยอดกิจการที่มีอยู่เดิมแต่หมดสิทธิประโยชน์ไปแล้ว โดยจะได้รับทั้งสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 3 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากประเทศไทยประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังชะลอการลงทุนออกไปก่อน ประกอบกับประชาชนขาดรายได้ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศลดลง