29 March 2024


เดินหน้า“ท่าเรือบกโคราช” 8 พันล้าน ผอ.การท่าเรือนำทีมลุยพื้นลั่นทำแน่ ชง 3 จุดที่ตั้งให้บอร์ดฟันธง

Post on: Jul 25, 2022
เปิดอ่าน: 348 ครั้ง

 

เดินหน้าจัดตั้ง “ท่าเรือบกโคราช” 8 พันล้าน  ผู้บริหารท่าเรือยกทีมลุยพื้นที่ รวบรวบข้อมูลสถานที่ตั้งโครง 3 จุด เพื่อชงบอร์ดการท่าเรือฟันธงและเสนอครม. ก่อนศึกษาออกแบบโครงการ ลั่นทำแน่ร่วมลงทุนแบบ PPP แง้ม“สถานีรถไฟบ้านกระโดน” ต.หนองไข่น้ำน่าสนใจสุด คาดสร้างเสร็จ ปี 2569-2570

วันนี้ ( 25 ก.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port)จังหวัดนครราชสีมา ว่า ล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมระเวียง 1  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง อ.เมือง จ. นครราชสีมา นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและ นายเกรียงไกรไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายวรพจน์ เอี่ยมรักษา กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา

โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในจังหวัดนครราชสีมาร่วมนำเสนอพื้นที่ในการจัดตั้งท่าเรือบกเป็นข้อมูลเปรียบเทียบด้านต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอจัดตั้งท่าเรือบกที่นครราชสีมาต่อบอร์ด ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

จากนั้นคณะผู้บริหารจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ที่เสนอในการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)ทั้ง  3 จุด  ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสสีมา , ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน และ ตำบลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว (บ้านทับม้า) จ.นครราชสีมา  โดยผลการลงพื้นที่พบว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ ที่เหมาะจะมีการจัดตั้งท่าเรือบกอย่างมากทั้งนี้ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีท่าเรือบกที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกำหนดไว้ที่ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน ปัจจุบันด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทางผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงได้ลงพื้นที่อีกครั้ง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของโคราชและความพร้อมเรื่องของบุคลากร รวมทั้งนโยบาย โดยทุกหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาให้การสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งการท่าเรือฯนั้นมีแผนที่จะ

หลังจากนี้จะมีการปรึกษาในคณะกรรมการฯ โดยถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ จะต้องเสนอเรื่องเข้าไปให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง อย่างเช่นหากเปลี่ยนแปลงจากกุดจิก ไปหนองไข่น้ำ หรือ ทับม้า อ.สีคิ้ว ก็จะต้องมาดูว่าศักยภาพของพื้นที่นั้นว่าเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามยังต้องให้ทางบุคคลที่ 3 ศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อเอามาประกอบกันด้วย ซึ่งการพิจารณาว่าจะเลือกพื้นที่ในการจัดตั้งแห่งใดนั้น ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้มีการนำข้อมูลมาประกอบการดำเนินการจัดทำขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา (Terms Of Reference) ให้เป็นไปตามกรอบการปฏิบัติงานและขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562

นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า  ตามที่ ครม.อนุมัติให้มีท่าเรือบกในโคราช ซึ่งเดิมทีศึกษาไว้ที่กุดจิก แต่ปัจจุบันด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป วันนี้ตนจึงลงพื้นที่อีกครั้ง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของโคราชและความพร้อมเรื่องของบุคลากร นโยบาย โดยทุกหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมา ให้การสนับสนุนเต็มที่

ส่วนการท่าเรือนั้นมีแผนว่า จะทำอะไรที่โคราชเป็นลำดับต่อไป หลังจากนี้จะต้องมีการปรึกษากันอีก ถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ต้องเสนอเรื่องใหม่ ให้ ครม.เห็นชอบ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกุดจิก ไป หนองไข่น้ำ หรือ ทับม้า ที่ใดที่หนึ่ง ทั้งนี้ ต้องมาดูว่าศักยภาพนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องการลงทุนอาจจะสูงในหลายเรื่อง จึงต้องมาปรึกษากันว่าที่ใดเหมาะสมที่สุด และวันนี้เราได้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ส่วนไหนเหมาะสมที่สุด

“ท่าเรือบกโคราชเราทำแน่ๆ ให้ความเชื่อมั่นได้เลยว่า ที่โคราชต้องมี ส่วนที่จังหวัดอื่นไม่ได้ทิ้ง ซึ่งในแต่ละพื้นที่สินค้าจะต่างกัน ความสำคัญก็ต่างกันไป แต่ใครจะเป็นศูนย์กลางนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับเราจะหาผู้ที่มาร่วมลงทุนกับการท่าเรือในระบบ PPP” นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณ เดิมที สนข.พิจารณาไว้ว่า ประมาณ 7–8 พันล้านบาท แต่ถ้าศึกษาใหม่อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะศึกษาไว้ 3-4 ปี แล้ว ซึ่งเป็นการประมาณการโดยใช้ค่าเงินในตอนนั้น หรืออาจจลดลง เพราะพื้นที่ที่ สนข.ศึกษาประมาน 2,000 ไร่ ความจริงเราใช้แค่ 1000 ไร่ก็เพียงพอ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ มีคลังสินค้า มีครบทุกอย่าง เรื่องงบประมานต้องศึกษาต่อไป และอาจจะมีบุคคลที่ 3 มาทำการศึกษาให้

ขณะนี้ ครม.อนุมัติที่ตำบลกุดจิก ด้วยข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โคราชจึงเสนอว่า มีอีก 2 แห่ง คือ ตำบลหนองไข่น้ำและทับม้า ซึ่งเราลงพื้นที่แล้ว ทุกที่มีความน่าสนใจมาก แต่ถ้าให้ฟันธงวันนี้ อาจมีแนวโน้มไปทาง ตำบลหนองไข่น้ำ จะเป็นศูนย์กลางในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามยังต้องให้ทางบุคคลที่ 3 ศึกษาให้ ด้วยเหตุผลต่างๆ ต้องเอามาประกอบด้วย ในพื้นที่ที่คาดว่าเหมาะสมที่สุด อาจจะเหมาะสมเป็นอันดับที่ 2 หรือ 3

หลังจากนี้มีจะให้บุคคลที่ 3 ศึกษาข้อมูลในการทำ PPP เพื่อบอกว่าเราจะทำในรูปแบบใด งบประมานเท่าไร รูปแบบเชิงธุรกิจ ปริมานของสินค้าเท่าไร แต่บุคคลที่ 3 ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเพียงผู้เดียว จะมีการท่าเรือ องค์กรท้องถิ่น ต้องช่วยกันดู โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาน 6 เดือน ทั้งนี้ สนข.คาดการณ์ไว้ว่า ท่าเรือบกโคราชจะก่อสร้างเสร็จ ในปี 2568 แต่วันนี้อาจมีความล่าช้า ทำให้เลื่อนไปปี 2569 หรือปี 2570 แต่ถ้ามีความชัดเจนเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ปี 2569 ก็อาจจะสำเร็จ หากเปลี่ยนพื้นที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ อย่างไรไม่คิดว่าจะนาน เพราะเรามีกระบวนการที่แน่นอนแล้ว

“ยืนยันว่า ทำแน่นอนครับ ที่โคราช เพียงแต่ระยะเวลานั้นอยู่ที่แต่ละหน่วยงานจะผลัดดันมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครราชสีมา ว่าจะย่นระยะเวลามากแค่ไหน แต่ไม่ต้องห่วง จัดทำที่โคราชแน่นอน” นายสมชาย กล่าวในตอนท้าย

อนึ่ง สำหรับโครงการจัดตั้งท่าเรือบก โคราช หรือ Dry Port korat คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภาค ได้กำหนดพื้นที่และกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยจังหวัดนครราชสีมาได้รับเลือก เป็น 1 ใน 4 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนา เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงโปรตีนจากแมลง

ทางจังหวัดนครราชสีมา จึงได้เลือกพื้นที่ 3 จุด คือจุดที่ 1 บริเวณ สถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา จุดที่ 2 คือ บริเวณติดถนนสาย 290 สายวงแหวนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จุดที่ 3 บริเวณสถานีทับม้า ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยให้ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาพื้นที่ดังกล่าว ทั้ง 3 จุดขณะที่ มทร.อีสาน ได้มีการเปิดสถาบันเครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่ง (Institute of Collaborative Logistics and Transportation) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด ประกอบด้วย 1. ด้าน Smart City 2. ด้าน Mice City และ 3. ด้าน Dry Port และ มทร.อีสาน ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานดำเนินงานเครือข่ายด้าน Dry Port ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เพื่อให้เป็นสถาบันที่ดำเนินงานขับเคลื่อนด้าน Dry Port ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งเป็นสถาบันที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการและสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน ให้ทราบถึงความสำคัญและผลประโยชน์ของการจัดตั้ง Dry Port นครราชสีมา