นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ประธานที่ปรึกษาบริษัท ไทยกรีนเฮลท์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมากำลังขับเคลื่อนเมืองเพื่อเดินหน้าไปสู่เมืองแห่งสุขภาพ โดยโครงการที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของประเทศไทยที่ประจำความสำเร็จคือ การสร้างสุขภาพที่ดีให้คนไทย ผ่านการดำเนินงานภายใต้ “ศูนย์เรียนรู้คนไทยห่างไกล NCDs โคราช” เพื่อลดอัตราป่วยของคนไทยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วนและอีกหลายโรค ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นภัยเงียบคุกคามคนไทยที่จะนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินงบประมาณในการรักษาคนกลุ่มนี้ไปจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่ง “ไทยกรีนเฮลล์วิสาหกิจเพื่อสังคม” เป็นองค์กรภาคประชาสังคม มุ่งหวังให้คนไทยห่างไกลจากโรคเรื้อรังเหล่านี้และสร้างสุขภาพที่ดี ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “ศูนย์เรียนรู้คนไทยห่างไกล NCDsโคราช” โดยมีสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาและภาคีเครือข่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ไปสู่เป้าหมาย
สำหรับศูนย์ “คนไทยห่างไกล NCDs โคราช” แห่งแรกของ อ.เมืองนครราชสีมานี้ ได้เปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณชั้น G ศูนย์การค้า M-Park ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิด นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงาน และมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เช่น น.ส.อรุณี อุสาหะ ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมและที่ปรึกษา สถาบันอาหารแห่งประเทศไทย, น.ส.วรัธญา วรัตน์เสวก สถาบันการสร้างชาติและคณะ ดร.มานะ กำจรตรีโรจน์ รองประธานศูนย์บูรณาการความรู้กัญชา CKCโดยกรมสุขภาพจิต และคณะ น.ส.ฉัตรสุรางค์ กองภา นายกสมาคมสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรนครราชสีมา และคณะ นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการชำนาญการ ครูก. รพ.จิตเวช และ น.ส.ชลธิชา ชัยณวัฒน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่ม ภูชีวกะและภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และสถาบันแพทย์แผนไทยอโรคยาศาสตร์ รวมถึงภาคประชาชนเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม
ทั้งนี้จากข้อมูลของนักวิจัยของ TDRI ปัจจุบันประเทศไทยต้องจ่ายเงิน ไม่น้อยกว่า 4แสนล้านบาท/ปี( โดย75%มาจากการป่วยด้วยโรคNCDs) และภายในปี2575 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถึง 1.8ล้านล้านบาท ซึ่งงบประมาณของทั้งประเทศ 2.8 ล้านล้านบาท เราต้องจ่ายหนี้5แสนล้านบาท และจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของ สสส. ระบุว่าโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาหลักของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย พบสัดส่วนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หรือทั้ง 2 โรค ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามต่อสุขภาพของประชาชนไทย อันก่อให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ ภาพรวมประเทศอัตราป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ต่อแสนประชากร ปี 2566 เท่ากับ 1,243.07 เขตสุขภาพที่ 9 เท่ากับ 1,403.12 จังหวัดนครราชสีมา เท่ากับ 1,457.16 สำหรับอัตราป่วยรายใหม่เบาหวานต่อแสนประชากร ภาพรวมประเทศปี 2566 เท่ากับ 606.74 เขตสุขภาพที่ 9 เท่ากับ 654.93 จังหวัดนครราชสีมา เท่ากับ 648.37 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เป็นอัตราส่วนที่สูงมาก ทุกภาคส่วนต้องเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานทั้งประเทศไทย จำนวน 3.2 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน(ข้อมูลจาก สสส.) เฉลี่ย 28,200 บาทต่อคนต่อปีหรือคิดเป็นมูลค่าโดยรวมเกือบ 100,000 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งรัดการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังให้เกิดเป็นรูปธรรมจะส่งผลให้ประชาชนไทยลดภาวะเสี่ยง ลดป่วย จากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับ “ศูนย์เรียนรู้คนไทย ห่างไกล NCDs โคราช”นี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยให้กลับมาเป็นประชาชนที่มีสุขภาพดี โดยดำเนินการในการสร้างสุขภาพที่ดีให้คนไทย ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบนับคาร์บ ลดแป้งอลดน้ำตาล ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาปรึกษาหรือสมัครเข้าร่วมเป็นนักเรียนโรงเรียนเบาหวานแห่งนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งนักเรียนกลุ่มแรกที่เข้าร่วมโคราชมีจำนวน 30 คน จะเริ่มการปรับพฤติกรรมตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.เป็นสัปดาห์แรกและจะใช้เวลาประมาณ 12 สัปดาห์ กลุ่มนี้ก็จะจบหลักสูตร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะขยายไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะเป็นการจุดประกายความฝันให้ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยเงียบนี้ได้สำเร็จ และกลับมาใช้ชีวิตที่เป็นปกติและสุขภาพดีถ้วนหน้า ลดการใช้งบประมาณของรัฐที่สูญเสียไปกับปัญหาเหล่านี้ลงไปได้จำนวนมหาศาล