สดร. เผย สามรายชื่อเข้ารอบในกิจกรรม “ตั้
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ จึงเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประเทศละ 1 ระบบ ประกอบด้วยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 1 ดวง และดาวฤกษ์แม่ 1 ดวง โดยพิจารณาให้สิทธิ์ตั้งชื่อระบบที่สามารถสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ใน 82 สมาชิกระดับประเทศของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้รับสิทธิ์ตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50
สดร. จึงจัดกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” เปิดโอกาสให้คนไทยร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่ดังกล่าว ผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้เสนอชื่อเข้ามามากกว่า 1,500 ชื่อ และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านดาราศาสตร์ ภาษาศาสตร์และผู้แทนสื่อมวลชน จำนวนรวม 7 ท่าน ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกชื่อเหลือเพียง 3 รายชื่อสุดท้าย เพื่อเปิดให้ประชาชนร่วมคัดเลือกผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดเดือนตุลาคม และชื่อที่มีคะแนนโหวตสูงสุด จะเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ เพื่อพิจารณาประกาศชื่ออย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2562 ต่อไป โดยชื่อนี้จะถูกใช้ควบคู่กับชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และให้เครดิตแก่ผู้ตั้งชื่อด้วย
ผลการพิจารณาตัดสินคู่ชื่อดาวฤกษ์แม่ – ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เป็นดังนี้
1) เจ้าพระยา (Chao Phraya) – แม่ปิง (Mae Ping)
แนวคิดการตั้งชื่อ : เนื่องจากดาวทั้งสองอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยซึ่งเกิดจากการไหลรวมของแม่น้ำแม่ปิง วัง ยม และน่าน ในอนาคตหากพบดาวเคราะห์เพิ่มเติมก็สามารถตั้งชื่อเป็นแม่น้ำสายอื่นๆ ได้อีก
2) ประกายแก้ว (Prakaikaeo) -ประกายดาว (Prakaidao)
แนวคิดการตั้งชื่อ : ประกายเเก้ว คือเเสงของความเเวววาวที่กระจายออกไปโดยรอบ เปรียบเสมือนดาวฤกษ์ ส่วนประกายดาว เปรียบเป็นแสงสะท้อนจากดาวฤกษ์ที่ตกกระทบดาวเคราะห์ที่โคจรเคียงคู่กัน
3) ฟ้าหลวง (Fahluang) – ฟ้าริน (Fahrin)
แนวคิดการตั้งชื่อ : เนื่องจากเป็นวัตถุที่เราสังเกตไปในท้องฟ้าจึงใช้คำว่า “ฟ้า” นำ ส่วนคำว่าหลวงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ฟ้าหลวงจึงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเจิดจรัสบนท้องฟ้า จึงเหมาะสมต่อการตั้งเป็นชื่อดาวฤกษ์ ส่วนคำว่าฟ้าริน หมายถึงหยาดน้ำฟ้าหรือสิ่งที่รินไหลลงมาจากฟากฟ้า เป็นตัวแทนของดาวเคราะห์บริวารของฟ้าหลวง
ผู้สนใจสามารถร่วมโหวตได้ที่ http://bit.ly/VoteNameExoWorldsTH ภายใต้เงื่อนไข 1 คน 1 สิทธิ์โหวต พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกสุดคลูจำนวนจำกัดเพียง 10 รางวัล โหวตได้ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 31 ตุลาคม 2562
ข้อมูลจำเพาะดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2554 ภายใต้โครงการ Wide Angle Search for Planets (WASP) ด้วยวิธีการผ่านหน้า (Transit Method) จัดเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเภทดาวพฤหัสบดีร้อน (Hot Jupiter) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ WASP-50 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีเหลือง ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์ อยู่บริเวณทางใต้ของกลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) ห่างจากระบบสุริยะประมาณ 750 ปีแสง ปัจจุบัน ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b ยังคงเป็นบริวารดวงเดียวที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ดวงนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.narit.or.th
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ สดร. แต่งตั้งและสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ จำนวน 7 ท่าน ดังนี้
- ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- นางสาวจุลลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- ผศ. ดร. ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- นายอธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - นายกิตติ สิงหาปัด สื่อมวลชนและผู้ประกาศข่าว