23 April 2024


มทส. จับมือมูลนิธิ สอวน. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20

Post on: Mar 28, 2023
เปิดอ่าน: 507 ครั้ง

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดแถลงข่าว “การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. ให้การต้อนรับ และ รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนาวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) กล่าวเปิดการแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. และ รองศาสตราจารย์ ดร.หนูเดือน  เมืองแสน ผู้แทนหัวหน้าสาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ร่วมให้รายละเอียดการจัดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา.

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย ศูนย์ สอวน. มทส. และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ สอวน. ดำเนินการจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 (The 20th Thailand Biology Olympiad: 20th TBO) ระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยจัดการแข่งขันและคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการอบรมจาก สอวน. ค่าย 2 จำนวนทั้งสิ้น 96 คน ประกอบด้วย นักเรียนตัวแทนจากศูนย์ สอวน. 13 ศูนย์ ทั่วประเทศ และนักเรียนจากค่ายของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ฯ (สสวท.) นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ คณาจารย์ผู้แทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ ได้แก่ หัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม และผู้ช่วยหัวหน้าทีม จำนวน 46 คน ครูสังเกตการณ์จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 5 คน คณะกรรมการจากมูลนิธิ สอวน. สสวท. และ สพฐ. นักศึกษาพี่เลี้ยง คณะกรรมการดำเนินงานจากศูนย์เจ้าภาพ และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์เจ้าภาพในปีถัดไป รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 230 คน.

สำหรับการแข่งขันมีทั้งการสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการ โดยใช้ข้อสอบมาตรฐานที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากมูลนิธิ สอวน. คณะกรรมการวิชาการของ มทส. และคณาจารย์ผู้แทนศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ ซึ่งผลคะแนนจากการแข่งขันจะได้รับการพิจารณาจากคณาจารย์ผู้แทนของทุกศูนย์ สอวน. เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส เกณฑ์คะแนนที่ผ่านมาตรฐานจะถูกพิจารณาจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง นอกจากนี้ ยังมีระดับเกียรติบัตรพิเศษ 7 รางวัล ได้แก่ คะแนนรวมสูงสุด คะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด คะแนนภาคปฏิบัติการสูงสุด คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคเหนือ คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคใต้ คะแนนรวมสูงสุดประจำภาคกลาง และคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนักเรียนผู้มีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าอบรมกับค่ายของ สสวท. เพื่อคัดเลือกเป็นนักเรียนตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป นอกเหนือจากการแข่งขันแล้ว ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ. – มทส.) ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อีกด้วย