มทส.จับมือเอกชนรายใหญ่ของไทยหนุนการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศการผลิตโคไทยวากิว ตลอดห่วงโซ่การผลิต
วันนี้ (10 มี.ค.66) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) และ นายสมพงษ์ เทพอาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ก้าวหน้า บีฟ จำกัดร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิวตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้รับเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตโคอย่างเหมาะสมผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ยกระดับห่วงโซ่การผลิตโคไทยวากิวที่มีคุณภาพสูงเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดและยั่งยืน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุงคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่ายอาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. พร้อมด้วย ผู้บริหารบริษัท ก้าวหน้าบีฟ จำกัด สมาคมผู้บำรุงพันธุ์โคไทยวากิว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคราชวากิว และคณาจารย์ มทส.ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจังหวัดนครราชสีมา
ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เผยว่า“ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทส. กับ บริษัท ก้าวหน้า บีฟ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจฟาร์มโคเนื้อการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพที่มีมาตรฐานการชำแหละ-ตัดแต่ง-บรรจุภัณฑ์ระดับสากลมีความเชี่ยวชาญสูงในการทำตลาดเนื้อโค โดยเฉพาะโคไทยวากิวทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ครอบคลุมทุกตลาดในครั้งนี้ เพื่อนำนวัตกรรมที่ มทส. มีอยู่ตลอดจนองค์ความรู้ที่จะเกิดจากการทำงานวิจัยร่วมกันไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยร่วมมือวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิวให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตเกิดเป็น “คลัสเตอร์โคไทยวากิว” รวมทั้งผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเนื้อโคเกรดพรีเมียมที่มทส. มีองค์ความรู้พร้อมใช้ ได้แก่การตรวจยีนควบคุมไขมันแทรกและเนื้อนุ่มในพ่อแม่พันธุ์และลูกโคก่อนเข้าขุน การปรับปรุงพันธุ์โคไทยวากิวการผลิตสารชีวภาพเสริมอาหารขุนโคเพื่อทำให้มีไขมันแทรกมากขึ้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ตัดเกรดเนื้อโควากิวรวมถึงการตรวจโรคและสารปนเปื้อนโค เพื่อออกใบรับรองอาหารปลอดภัยให้กับเนื้อโคผ่านระบบสืบย้อนกลับซึ่ง มทส. โดย รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โควากิวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 สามารถผลิตโควากิวที่มีเลือดโควากิว 87.5% มีเกรดไขมันแทรกระหว่าง 3-8 คุณภาพและความอร่อยไม่แพ้เนื้อโควากิวนำเข้า เกษตรกรมีกำไรจากการขุนโคตัวละ 30,000-80,000 บาท
โดยมีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการขุนโควากิว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดอบรมให้แก่เกษตรกรการขยายการเลี้ยงทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทั่วทุกภาคของประเทศ ได้รับการตั้งชื่อว่าโคพันธุ์โคราชวากิวโคอีสานวากิว และโคไทยวากิว ในปัจจุบัน สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตนอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2562 มทส. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 60 ล้านบาทก่อสร้างอาคารปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาลาล เพื่อการส่งออกมีระบบโซลาเซลล์อนุรักษ์พลังงาน รวมถึงคอกขุนโควากิวอัจฉริยะที่มีเครื่องจักรผสมอาหารทีเอ็มอาร์ต้นทุนต่ำคุณภาพสูง ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น พร้อมระบบสืบย้อนกลับที่รองรับการลงทะเบียนโคได้ 50 ล้านตัวสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และอบรมเกษตรกรผู้สนใจยกระดับผลิตภัณฑ์เนื้อโควากิวให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากลลดการนำเข้าเนื้อโคขุนและเพิ่มการส่งออกเนื้อโควากิวที่เป็นเนื้อเกรดพรีเมียมได้ในอนาคต”ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงทุกกระบวนการในการผลิตโคไทยวากิวส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในการทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญการทำ start upซึ่งมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงงานวิจัยนร่วมกัน ภายใน 5 ปีข้างหน้ามีเป้าหมายรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการผลิตโคไทยวากิว เพื่อทำฐานข้อมูลใหญ่ หรือ Big Dataอันเป็นหัวใจสำคัญของทุกขั้นตอนการขุนโคไทยวากิวที่สามารถการันตีเกรดไขมันแทรกโคทุกตัวเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตโคไทยวากิวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน