20 April 2024


ศูนย์ฯ อารักขาพืชโคราชเดินหน้าลดพื้นที่ใช้สารเคมี ชู “รักจังฟาร์ม”สวนเมล่อนปลอดสารพิษแห่งแรกโคราช ทำเงินปีละกว่า 10 ล.(ชมคลิป)

Post on: Oct 9, 2019
เปิดอ่าน: 669 ครั้ง

 

ชู “รักจังฟาร์ม” สวนเมล่อนปลอดสารพิษแห่งแรกของโคราช สร้างสุขทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ชี้เป็นเมล่อนคุณภาพคับแก้ว สร้างรายได้งามปีละกว่า 10 ล้านบาท ด้านศูนย์ฯ อารักขาพืชรุกส่งเสริมเกษตรกรเลิกใช้เคมีหันมาใช้ชีวภัณฑ์แทน ตั้งเป้าสร้างฟาร์มตัวอย่างใน 8 จ.อีสานล่าง

วันนี้ (9 ต.ค.) นายไพโรจน์  ขำแจง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดนครราชสีมา  เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ อารักขาพืช มุ่งส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ดำเนินการผลิต ขยาย สนับสนุนปัจจัยควบคุมศัตรูพืชให้แก่เกษตรกรรวมถึงให้บริการและสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยแจ้งเตือนภัยการระบาด และให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี    ซึ่งเป้าหมายการดำเนินการคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้หันมาใช้เกษตรอินทรีย์มากขึ้น ลดพื้นที่การใช้สารเคมีลงหรือให้น้อยที่สุด ส่งสำคัญคือเกษตรกรเองต้องมีใจรักและอดทนรอคอย เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์จะให้ผลช้าแต่ยั่งยืน

ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ อารักขาพืชนครราชสีมา วางแผนว่าจะสร้างพื้นที่เกษตรปลอดสารพิษตัวอย่างขึ้นให้อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งเพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้เข้ามาชมศึกษาและนำไปปรับใช้กับพืชของตัวเอง โดย “รักจังฟาร์ม”  ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ถือเป็นสวนเมล่อนปลอดสารเคมีแห่งแรกใน จังหวัดนครราชสีมา ที่เจ้าของเห็นความสำคัญของการทำเกษตรปลอดสารพิษ โดยปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิภัณฑ์แทนการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและการบำรุงดิน ซึ่งได้ผลที่ชัดเจน ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ผลิตก็มีสุขภาพที่ดี เมื่อเราบำรุงดินให้ดีก็ส่งผลต่อพืชที่ปลูก ก็ให้ผลผลิตที่ดีเช่นกัน

ด้านนางฐิวรรณี  กันหามาลา  หรือ “พี่หน่อย”  เจ้าของสวนเมล่อนปลอดสารพิษ “รักจังฟาร์ม”  ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  เปิดเผยว่า หลังตัดสินใจ หันหลังให้กับอาชีพครูโดยการลาออกเมื่อกว่า 5 ปีก่อน ได้ลงมือเอาจริงเอาจังกับการปลูกเมล่อนบนพื้นที่ 10 ไร่    แรก ๆ เริ่มจากโรงเรือนไม่กี่หลังขยายมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีโรงเรือนปลูกเมล่อนประมาณ 20 โรงปลุกเมล่อนเฉลี่ยโรงละ 210 ต้นเป็นสายพันธุ์ทาคาชิ ซึ่งเนื้อจะมีสีเขียว หวานนุ่มลิ้น และ มิซูโอะ เนื้อสม หวานกรอบ เป็นที่ต้องการของตลาด ที่ผ่านมาใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชและโรคระบาดแต่หลังจากได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดนครราชสีมา  ก็พยายามนำเอาชีวภัณฑ์มาใช้แทนสารเคมีจนถึงขณะนี้ถือได้ว่าเป็นสวนเมล่อนปลอดสารเคมีแห่งแรกในอำเภอวังน้ำเขียวและจังหวัดนครราชสีมา โดยทางฟาร์มจะผลิตเชื้อราและชีวภัณฑ์ต่างๆ เองประหยัดงบประมาณในการซื้อสารเคมีลงไปได้ สามารถลดต้นทุนการผลิตและคนงานในฟาร์มทุกคนมีความสุขในการทำสวนเมล่อนไม่ต้องมีสารเคมี จากเดิมเคยใส่หน้ากากในการทำงาน ต้องทนกับกลิ่นสารเคมีทุกวันนี้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข ชีวิตก็ยืนยาว ลูกค้าที่เข้ามาชมสวนเมล่อนก็เดินเข้ามาได้อย่างสบายใจ  รับประทานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของ  “รักจังฟาร์ม” ได้อย่างสนิทใจไม่กังวลเรื่องสารเคมี อีกต่อไป

นางฐิวรรณี   กล่าวอีกว่า รักจังฟาร์ม ไม่ได้มีแค่เมล่อนผลสด ๆ เท่านั้น แต่ที่นี่ยังสินค้าอื่นๆ ที่แปรรูปจากเมล่อน  ทั้งไอศกรีมเมล่อน ที่การันตีด้วยการเป็น OTOP 3 ดาวของจังหวัดนครราชสีมา  ไวน์เมล่อน เมล่อนอัดเม็ดสำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์พร้อมทาน พุดดิ้ง สาคูเมล่อนนมสด นมเมล่อน สบู่เมล่อน น้ำสลัดครีมเมล่อน เมล่อนสมูตตี้  เป็นต้น วันนี้รักจังฟาร์มเปิดขายหน้าร้านอย่างเดียว ผลผลิตมีไม่พอขายให้ลูกค้า โดยขายแบบคัดเกรดอยู่ที่ กก. ละ 150 บาทขึ้นไป มีรายได้ปีละกว่า 10 ล้านบาท เป้าหมายหวังพัฒนาให้เป็นเมล่อนอินทรีย์และผลิตเมล่อนสายพันธุ์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นลูกละ 500 บาทส่งขายให้กับการบินไทย ซึ่งได้ทดลองปลูกไปแล้วและจะนำมาปลูกขยายพันธุ์ต่อไป