25 April 2024


วิธีคลายเครียดยุคโควิด! รพ.จิตเวชโคราช แนะสร้างพลังใจ สู้ภัยวิกฤติโรคโควิด-19 ด้วยสูตร “ปรับ 4 เติม 3 ”สั่งปรับแผนคัดคนเครียดเข้าระบบให้เร็ว

Post on: May 12, 2020
เปิดอ่าน: 496 ครั้ง

 

รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯปรับแผนบริการสุขภาพจิตเร่งด่วนในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง รับมือกับผลกระทบจากโรคโควิด-19  โดยใช้พลัง อสม.คัดกรองความเครียดประชาชนในหมู่บ้าน นำเข้าสู่ระบบการดูแลอย่างทันท่วงที  พร้อมแนะให้ประชาชนสร้างพลังใจ เพื่อเป็นกำลังภายในใช้ต่อสู้วิกฤติชีวิต โดยใช้สูตร “ปรับ4” คือปรับอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม และปรับเป้าหมายให้ยืดหยุ่น และเติมใจอีก 3 คือเติมศรัทธาความเชื่อ  เติมมิตร และเติมจิตให้กว้าง ชี้จะช่วยให้การปรับใจ ปรับตัวดีขึ้น ชีวิตมีธงเดินก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างปลอดภัย

นายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์  จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า รพ.จิตเวชฯและศูนย์สุขภาพจิตที่9 ได้จัดประชุมทางไกลเครือข่ายบริการสุขภาพจิตในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อปรับแผนบริการสุขภาพจิตในภาวะเร่งด่วน  เพื่อป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เน้นหนัก  2 มาตรการ มาตรการแรกคือการดูแลป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าขาดยา เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และลดภาระให้ครอบครัวให้มากที่สุด มาตรการที่2 คือการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตามนโยบายของอธิบดีกรมสุขภาพจิต โดยใช้พลังของอสม.ซึ่งในพื้นที่ 4 จังหวัด มีประมาณ 130,000 คน  ทำการตรวจคัดกรองความเครียดประชาชนทุกหมู่บ้านและชุมชนตามมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต เพื่อนำผู้ที่มีปัญหาเข้าสู่ระบบการดูแลช่วยเหลือทางจิตใจโดยเร็วที่สุด  เนื่องจากความเครียดเป็นปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตในระยะยาวได้

สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ ขอให้ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ  โดยเฉพาะด้านพลังใจนั้น ถือว่าเป็นกำลังภายในที่มีความสำคัญมากต่อการรับมือ ช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัว ปรับใจ เพื่อต่อสู้กับอุปสรรคความยากลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิตขณะนี้ และกลับมาฟื้นตัวดำเนินชีวิตต่อไปได้ พลังใจ 3 ตัว ได้แก่พลังอึด พลังฮึด และพลังสู้  ซึ่งแต่ละคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่มีความมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีตและการเลี้ยงดู  พลังอึดคือศักยภาพของจิตใจที่ทนต่อแรงกดดันภายนอก พลังฮึดคือการมีความหวัง มีพลังใจและแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนพลังสู้คือการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยประชาชนทุกคน สามารถเสริมสร้างพลังใจได้ด้วยตนเอง โดยใช้สูตรของกรมสุขภาพจิตคือ “ปรับ4 เติม3” ดังต่อไปนี้

ปรับ 4 ประกอบด้วย 1. ปรับอารมณ์  พยายามตั้งสติอยู่กับความเป็นจริง และผ่อนคลายความเครียด ระบายความกดดันอย่างเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย เบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่นแทน  เมื่อใดที่รู้สึกว่าตัวเองท้อใจ เหนื่อยใจ ขอให้บอกตัวเองว่า เราต้องสู้ เราไม่ได้เจอปัญหาคนเดียว ยังมีคนอื่นๆอีกจำนวนมากที่ทุกข์กว่าเรา  จะช่วยทำให้จิตใจเราสบายและสงบขึ้น  2 . ปรับความคิด วิธีการคือให้คิดในแง่มุมบวกกับชีวิต ทำได้หลายวิธีเช่น เปรียบเทียบกับคนที่แย่กว่าเรา  มองปัญหาขณะนี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นต้น พร้อมทั้งให้บอกตัวเองทุกครั้งว่า ความทุกข์นี้มันจะผ่านไป ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป การปรับความคิดจะทำให้เรายอมรับความเป็นจริงว่ามีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น และมีกำลังใจต่อสู้ต่อไป

  1. ปรับการกระทำ เมื่ออารมณ์ความคิดกลับมาสู่ปกติแล้วและมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่เราได้คิดและวางแผนใหม่เพื่อให้การใช้ชีวิตมีเส้นทางที่ชัดเจนและมีรูปธรรมที่สัมผัสได้จริงว่า วันนี้ทำอะไร ได้อะไร จะทำให้ชีวิตเรามีธงและดำเนินต่อไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่นั่นเอง และ 4. ปรับเป้าหมายชีวิตเดิมที่เราตั้งไว้ให้ยืดหยุ่น ลดระดับให้สอดรับและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อช่วยให้เราก้าวเดินต่อไปอย่างมีความหวัง

สำหรับ “เติม3” ประกอบด้วย1. เติมศรัทธาความเชื่อ  โดยให้เชื่อไว้เสมอว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออก เชื่อว่าวันข้างหน้าต้องดีขึ้น หรือเชื่อว่าชีวิตมีขึ้นมีลง ความเชื่อความศรัทธาทำให้คนเรามีจิตใจเข้มแข็ง มีความหวัง 2. เติมมิตร คือการมีเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจหรือคนในครอบครัว ไว้เป็นที่ปรึกษาในยามที่เราเผชิญปัญหาที่เกินจะรับมือได้คนเดียว จะช่วยให้เรามีทางออกดีขึ้น  และ 3.เติมใจให้กว้าง คือการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและวิธีการของคนอื่นที่แตกต่างจากเรา วิธีการนี้จะช่วยให้เราได้ข้อมูลใหม่ๆ และมองปัญหาได้อย่างรอบด้าน 360 องศา ไม่เกิดปัญหาทางตันชีวิต ทำให้เห็นทางออกได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากโรคโควิด-19 ได้อย่างดีโดยใช้หลัก 3 ส. คือสอดส่องมองหาคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ที่มีอารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติเดิม เช่น มีสีหน้าเศร้าซึม ร้องไห้ นั่งเหม่อลอย  เป็นต้น หากพบให้รีบเข้าไปพูดคุย ใส่ใจรับฟัง การได้พูดคุยกันเป็นวิธีช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาได้ระบายความทุกข์ในใจได้อย่างดี พร้อมทั้งการส่งต่อความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่าที่ตนเองมี เช่น น้ำ อาหาร ยา หากอาการยังไม่ดีขึ้น ขอให้แจ้งอสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือต่อไป  นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว