23 April 2024


ล็อตแรก! ธ.ก.ส.โอนแล้วเงินเยียวยาโควิด-19 เกษตรกรโคราชรับไปกว่า 156 ล.รอคิวโอนอีกกว่า 300 ล.

Post on: May 15, 2020
เปิดอ่าน: 598 ครั้ง

 

เกษตรกรยิ้มหน้าบาน ! ธ.ก.ส.โคราชโอนเงินเยียวยาโควิด-19ให้เกษตรกรรอบแรกกว่า156 ล.เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกร

วันนี้ (15 พ.ค.)ที่สำนักงาน ธ.ก.ส.นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร  จันทรโณทัย   ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานมอบเงินเยียวยาจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 วันแรกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายสุทธินันท์  บุญมี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดนครราชสีมาให้การต้อนรับ มีเกษตรเดินทางมาร่วมในกิขกรรมดังกล่าวคึกคัก

นายสุทธินันท์  บุญมี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดนครราชสีมาเปิดเผยว่าตามที่มติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) เห็นชอบช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เกษตรกรจำนวน10 ล้านราย เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนรวม 15,000 บาท โดย ธ.ก.ส. จะเริ่มจ่ายรอบแรกในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 โดย สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา จ่ายเงิน ที่ได้รับโอนมารอบแรก จำนวน 38,621 ราย เป็นเงิน 156,670,000 บาท วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จ่ายเงินจำนวน 48,562 ราย เป็นเงิน 242,810,000 บาท วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 จ่ายเงินจำนวน 42,976 ราย เป็นเงิน  214,880,000 บาท รวมจำนวนทั้งสิ้น 130,159 ราย จำนวนเงิน 614,360,000 บาท เกษตรกรสามารถเช็คเงินที่โอนเข้าบัญชี จาก www.เยียวยาเกษตรกร.com

และเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 โดยเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. จัดทำโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 โดยมี วัตถุประสงค์การให้กู้เงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จำเป็นและฉุกเฉินจากผลกระทบของไวรัสโควิด 19

ผู้กู้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 โดย เป็นเกษตรกรลูกค้า เกษตรกรหรือบุคคลในครอบครัวของเกษตรกรที่ยังไม่เป็นลูกค้าเงินกู้ของ ธ.ก.ส. โดยกู้ได้ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อรายกำหนดจ่ายเงินกู้ ไม่เกินวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน (Flat Rate) ทั้งนี้ สำหรับ กำหนดระยะเวลาชำระหนี้   โดยกำหนด เป็นรายเดือน หรือราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือนตามความสามารถในการชำระหนี้และที่มาแห่งรายได้ โดยให้ชำระหนี้คืนเสร็จไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ ให้ปลอดชำระต้นเงินและปลอดชำระดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือนแรก นับแต่วันกู้

ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนเพื่อขอกู้เงินโครงการสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (COVID 19) ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จำนวน  77,993  ราย ซึ่ง ธ.ก.ส.สาขาในสังกัดสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการจ่ายแล้ว จำนวน 336 ราย จำนวนเงิน 3,355,000 บาท (ข้อมูล ณ 13 พฤษภาคม 2563)

มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ในการดำเนินธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ปลอดชำระต้นเงินในช่วง 6 เดือนแรก โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่ม ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจทุกประเภทสามารถใช้บริการตามมาตรการดังกล่าว ยกเว้นวงเงินหนังสือค้ำประกัน วงเงิน A – Cash บัตรเกษตรสุขใจ บุคลากรภาครัฐ สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับมาตรการสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาต้นสังกัด หรือศูนย์ธุรกิจ   ธ.ก.ส. ประจำจังหวัด ใกล้บ้านท่าน โดยผลการดำเนินงาน การจ่ายสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 สาขาในสังกัดสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา จ่ายสินเชื่อแล้วจำนวน 105 ราย เป็นเงิน 180,834,000  บาท

วันเดียวกันที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สาขาครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา นายวิจิตร กิจวิรัตน์ นายอำเภอครบุรี เป็นประธานในการเริ่มการโอนเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรค โควิด 19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชุดแรกให้แก่เกษตรกรอำเภอครบุรีที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้วในปีนี้ รายละ 15,000 บาท ซึ่งจะแบ่งจ่ายเป็น 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท ด้วยการโอนเงินผ่านบัญชีของเกษตรกร

สำหรับในพื้นที่อำเภอครบุรี มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรค โควิด 19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในชุดแรกจำนวนทั้งสิ้น 2,586 ราย รวมเป็นยอดเงินจำนวนทั้งสิ้น 22,930,000 บาท  นอกจากนี้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สาขาครบุรียังมีโครงการจ่ายสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ดอกเบี้ยต่ำรายละ 10,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ได้จ่ายสินเชื่อฉุกเฉินให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 100 ราย