19 April 2024


โคราชจี้แบงก์ชาติเร่งเยียวยาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโควิด-19 ชง 12 มาตรการให้ช่วยเหลือ

Post on: Jun 6, 2020
เปิดอ่าน: 622 ครั้ง

 

 ผู้ว่าฯโคราชชงธนาคารชาติเร่งเยียวยาผู้ประกอบการภาคเอกชนหอการค้า สภาอุตฯ อสังหาริมทรัพย์ ชมรมธนาคาร เมืองย่าโม ช่วยเหลือภาคธุรกิจ พร้อม เสนอ 12 แนวทาง ในการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการช่วงโควิด-19

เมื่อช่วงสายวันนี้(5 มิ.ย. 2563) ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา  นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และนายศักดิ์ชาย ผลพานิช รองประธานหอการค้าฯ ส่วนราชการ ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด ชมรมธนาคารจังหวัด สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ร่วมประชุมหารือแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการของจังหวัดนครราชสีมา  จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด19 ผ่านระบบ VDO Conference  ร่วมกับนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการฯ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะทำงาน เพื่อหารือถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

ทั้งนี้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด เสนอต่อทางรัฐบาลในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม  ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้ประสบกับปัญหาในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan  ของรัฐบาล ที่จะมาพยุงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกำหนดให้เฉพาะ SMEs ที่สามารถขอสินเชื่อได้เท่านั้นทำให้ผู้ประกอบการขนาดอื่นๆ ไม่สามารถขอได้   ,SMEs รายใหม่ ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เนื่องจากการขอสินเชื่อจะต้องมีวงเงินกู้เดิมกับธนาคาร และประสบปัญหาจากกฎเกณฑ์ของธนาคาร ผู้ประกอบการยอดขายไม่ดี มีเงินหมุนในบัญชีไม่เป็นไปตามที่กำหนดและไม่มีเงินคงเหลือในบัญชีสินเชื่อ ซึ่งธนาคารจะให้สินเชื่อเฉพาะบริษัทที่ดูแล้วไม่มีความเสี่ยง หรือเสี่ยงน้อย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จึงได้ยื่นข้อเสนอ 12 แนวทางให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา ประกอบด้วย 1.ให้ธนาคารของรัฐฯ เช่นธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME ปล่อยสินเชื่อโดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆลดลง

2.ให้บสย.ค้าประกันเพิ่มได้ โดย วงเงินห้าล้านแรก ค้าประกัน 90%  5-25ล้านค้าประกัน 80%  25-50ล้านค้าประกัน 70%  เกิน 50 ล้านค้าประกัน 60%  , 3. ให้ ธปท. เพิ่มผลประโยชน์ให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น มีเงื่อนไขน้อยลง , 4. ธนาคารพาณิชย์ พิจารณาเงินกู้จาก credit scoring ขอให้ปรับกฎเกณฑ์ลงเนื่องจากไม่อยู่ในสภาวะปกติ , 5. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของเครดิตบูโร เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงปกติ เช่น กรณีติดเครดิตบูโรจาก 3 ปีเหลือ 1 ปี , 6. ขอให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่อง ยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการ เนื่องจากยอดขายไม่ดีทำให้ ยอดหมุนเวียนในบัญชีไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่จะขอสินเชื่อ , 7. หากธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธวงเงินสินเชื่อ ควรมีบันทึกไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลและแจ้งผู้ประกอบการ ถึงข้อที่ทาให้ผู้ประกอบการไม่สามารถกู้ได้ , 8. เพิ่มการปล่อย soft loan ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ และผู้ประกอบการที่มีวงเงินเกิน 500ล้านบาทด้วย , 9. เพิ่มวงเงินสินเชื่อใหม่ จาก 20% เป็น 50% ของสินเชื่อคงค้าง ณ วันสิ้นปี 2562 หรือหากคง 20%ให้เพิ่มจากวงเงินเดิม , 10. การจัดสรรวงเงินสินเชื่อให้กระจายครบทุกจังหวัดตามสัดส่วน , 11. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าเงินบาทให้มีความผันผวนน้อยลง และ 12. ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีฮอตไลน์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เฉพาะเกี่ยวกับSoft Loan