ผู้ตรวจการแผ่นดินนำทีมลุยสางปัญหาเหมืองโปแตชโคราช สั่งตั้งคณะทำงานดึงชาวบ้านร่วม แนะสร้างความเข้าใจให้ชุมชน
วันนี้(26 ก.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะได้เดินทางมารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมือนแร่โปแตช ทั้งนี้สืบเนื่องจาก กลุ่มมวลชนในนาม “กลุ่มรักษ์บ้านเกิด” อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้ชุมนุมเรียกร้องหลังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยได้มีการชุมนุมหลายครั้ง และครั้งล่าสุดได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในขณะที่เดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา การประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลและหารืออย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางคณะได้เดินทางลงพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำเหมืองแร่และได้พูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง และออกมาชุมนุม ซึ่งชาวบ้านมีความกังวลใจหลายอย่างทั้งเรื่องของความเชื่อมั่นต่อบริษัทฯ รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาดินเค็ม เรื่องมลพิษที่เกิดจากการระเบิดเพื่อสร้างอุโมงค์ในการทำเหมืองต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางจังหวัดตั้งคณะทำงานที่มาติดตามเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งในคณะทำงานชุดนี้ต้องมีตัวแทนชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะสรุปข้อมูลเรื่องการดำเนินการในพื้นที่ การตรวจสภาพดิน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้กับคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน และเร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาให้กับชาวบ้าน ซึ่งจากการสอบถามทางตัวแทนของบริษัทฯ ทราบว่า หลังเปิดดำเนินการตัง้แต่ปี 2559 โดยการทำอุโมงค์ที่ 1 แต่ปรากฏว่าในปี 2563 เกิดปัญหาน้ำใต้ดินท่วมอุโมงค์ ทางบริษัทฯ จึงหยุดดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินและได้เสนอคำขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและมาตรการที่กำหนดไวในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เปิดดำเนินการ และหากจะเปิดการระเบิดอุโมงค์อีกครั้งต้องทำอย่างรอบคอบโดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ และ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงมาตรการต่าง ๆที่ทางบริษัทฯ ดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนกรณีการเยียวยานั้นคณะทำงานชุดนี้จะประเมินว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านถ่ายภาพมานำเสนอผ่านสื่อมวลชนนั้น เป็นพื้นที่ใดและเจ้าหน้าที่จะได้เก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ดังกล่าวมาตรวจสอบ หากพบว่าเกิดจากการทำเหมือนโปรแตชจริงก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบและเยียวยาราษฏรที่ได้รับผลกระทบต่อไป
ทั้งนี้บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินเลขที่ 28831/16137 ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2558-6 ก.ค.2583 พื้นที่ 9,799 ไร่ มีกำลังการผลิตแร่โปแตช 100,000 ตันต่อปีและทำการเปิดเหมืองเมื่อปี 2563 ก่อนประสบปัญหาและหยุดดำเนินการชั่วคราว โดยทางบริษัทฯ ได้ขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเพื่อก่อสร้างอุโมงค์แนวดิ่งใหม่จำนวน 3 อุโมงค์ เนื่องจากอุโมงค์เดิมประสบปัญหาน้ำเข้าอุโมงค์ และมีการจัดตั้งกองทุนตามกฎหมายจำนวน 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในโครงการทำเหมืองใต้ดิน/ กองทุนเพื่อการสนับสนุนการร่วมตรวจสอบของตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย/ กองทุนเพื่อการศึกษาแก่กรมอุตสาหกรรมเพื่อฐานและการเหมืองแร่/ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ/ กองทุนฟื้นฟูการทำเหมือง/ กองทุนมวลชนสัมพันธ์ และ กองทุนและงบประมาณมอบให้แก่ชุมชน