20 April 2024


ฟื้นชีพอุโมงค์ 800 ล.สามแยกโคราช รับมือวิกฤติจราจรผ่าเมืองคาดปี 67 ได้ใช้จริง

Post on: Jul 17, 2020
เปิดอ่าน: 796 ครั้ง

 

กรมทางหลวงเปิดเวทีรับฟังความเห็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมอุโมงค์ 3 แยกโคราช หวังแก้ไขปัญหา วิกฤติจราจรเส้นหลักผ่าเมืองโคราช เผยยึดแนวเดิมที่เคยศึกษาออกแบบไว้เมื่อ 13 ปีก่อน ระยะทางประมาณ 1.1 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร  ชี้หากขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี งบก่อสร้าง800 ล้านบาท

วันนี้ (17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค ถนนมิตรภาพ  อ.เมือง จ.นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดเวทีประชุมหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอุโมงค์จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) จ.นครราชสีมา ใกล้กับศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 โดยมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 250 คน ซึ่งโครงการอุโมงค์ทางลอดสามแยกนครราชสีมาเป็นโครงการที่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบไว้ เมื่อ 2550 หรือ 13 ปีที่ผ่านมา แต่โครงการต้องระงับ เนื่องจากในขณะนั้น มีประชาชน ภาคเอกชน นักธุรกิจบางกลุ่มออกมาคัดค้านอ้างว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจการค้า ขณะนั้นมูลค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวเพียง 400 ล้านบาท  ผลการคัดค้านทำให้การดำเนินโครงการต้องระงับไป

นายพรชัย    ศิลารมย์    ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2  เปิดเผยว่า  จากการขยายตัวของเมืองนคราชสีมา และการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ การอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่เพิ่มขั้นของประชากร จำนวนรถที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่วิ่งผ่าตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณสามแยกนครราชสีมา และบริเวณสามแยกประโดก รวมทั้งบริเวณดังกล่าวยังมีศูนย์การค้า ร้านค้า ย่านธุรกิจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและหนาแน่น จากข้อมูล พบว่าบริเวณทั้ง 2 จุด ดังกล่าวจะมีรถยนต์วิ่งผ่านละกว่า 100,000 คัน ซึ่งบริเวณโดยรอบมีชุมชนหนาแน่น ในปัจจุบันได้จัดการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจร ทำให้ไม่สามารถรองรับการจราจรได้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนการจราจรถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต จึงนำผลการศึกษาและออกแบบโครงการดังกล่าวมาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

นายพรชัย กล่าวต่อว่า กรมทางหลวงมีแผนจะก่อสร้างอุโมงค์ บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2550 กรมทางหลวง ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางลอดบนทางหลวงหมายเลข 2 บริเวณสามแยกนครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการ แต่จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการพบว่า มีแหล่งโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตรจากถนนโครงการจึงเข้าข่ายโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ก่อนการพัฒนาโครงการดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้าง บริษัท ธรรมชาติคอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ซิตี้แพลนโปรเฟสชั่นนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาทบทวนรูปแบบการก่อสร้างที่เคยออกแบบไว้เมื่อปี 2550 และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด ในการดำเนินงานดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสแสดงทัศนะคติแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อการดำเนินการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นมากที่สุด

สำหรับพื้นที่ศึกษาจะเป็นบริเวณสามแยกนครราชสีมา จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) กับทางหลวงหมายเลข 224 โดยมีจุดเริ่มต้นที่ทางหลวงหมายเลข 2 กม. 253 + 371 ถึง กม. 254 + 552 รวมระยะทาง 1.189 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ในระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการในเขต ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และในการศึกษาผลกระทบด้านโบราณคดีจะมีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมในระยะ 1 กิโลเมตรจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการจำนวน 3 แห่ง ได้แก่บ้านสำโรงจันทร์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) และประตูชุมพล จึงต้องจัดทำรายการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการพัฒนาโครงการ

นายพรชัย กล่าวว่า  รูปแบบอุโมงค์ เป็นอุโมงค์ขนาด 2 ช่องจราจร มีช่องจราจร 3.25 เมตร  ความกว้างภายใน 9.10 เมตร และมีทางเท้ากว้าง 1.00 เมตร ซ้อนทับกันแนวทางหลวงหมายเลข 2 ในทิศทางจากจังหวัดขอนแก่น เลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรี มีความสูงช่องลอดไม่น้อยกว่า 5.50 เมตรความลาดชันของอุโมงค์ร้อยละ 4 ความยาวอุโมงค์ 929 เมตร ความยาวอุโมงค์ช่วงปิด 126 เมตรสามารถรองรับความเร็ว ออกแบบได้ 50 กม. / ชม  เข้าอุโมงค์ทางลอดบริเวณหน้าศูนย์เพาะชำเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ลอดใต้ทางแยกนครราชสีมาและสิ้นสุดบนทางระดับดินบริเวณหน้าอู่ชินวัฒน์บริการ  ส่วนรูปแบบถนนระดับดินจะออกแบบให้มีขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดขอนแก่น) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องละ 3.00 – 3.25 เมตร และออกแบบให้มี 3 ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดสระบุรี) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องจราจรช่องละ 3.00 – 3.25 เมตร มีการควบคุมทิศทางการเดินรถด้วยสัญญาณไฟจราจร ระยะทางรวมของโครงการ 1.189 กม. โดยมีระบบการจัดการระบบระบายน้ำและระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในอุโมงค์ที่มีตามมาตรฐานโดยโครงการดังกล่าวนี้คาดว่าจะงบประมาณ 800 ล้านบาท

ทั้งนี้กรมทางหลวงกระทรวงคมนาคม จะจัดการประชุมเพื่อหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอุโมงค์ ฯ อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คาดว่าหากขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2565 และใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี