28 March 2024


(ชมคลิป) ส่อง! กกพ.เขต 6 โคราชกับภารกิจ กำกับ ดูแล คุ้มครองและพัฒนาไฟฟ้าไทยให้ยั่งยืน

Post on: Aug 31, 2020
เปิดอ่าน: 596 ครั้ง

 

ส่อง!  สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า (กกพ.) ประจำเขต 6 นครราชสีมา มีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไร ไปชมกัน….

ไฟฟ้า เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การให้แสงสว่างตามอาคารบ้านเรือน ถนน และสถานที่ต่างๆ การใช้กับเครื่องมือสื่อสาร สมาร์ทโฟนหรือเทคโนโลยีตามยุคสมัย การอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต

เรียกได้ว่า ไฟฟ้า คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นความมั่นคงของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน

สำหรับสถานที่แห่งนี้ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างคับคั่ง การขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้จังหวัดนครราชสีมามีกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าอยู่หลากหลายแห่ง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น และพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยมาตรฐานการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของชุมชนได้เป็นอย่างดี

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จึงกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 นครราชสีมา เพื่อคอยกำกับ ดูแล ผู้ประกอบกิจการพลังงาน คุ้มครองผู้ใช้พลังงานและร่วมพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 6 ตั้งอยู่ที่ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ดูแลครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ โดยมีภารกิจสำคัญ 3 ภารกิจ ดังนี้

ภารกิจที่ 1 การอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 มีบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 และระเบียบที่เกี่ยวข้องในด้านการอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ดังนี้

1.การรับฟังความเห็นประกอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

2.การจดแจ้งยกเว้นผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ไม่ต้องขออนุญาต

3.การรับคำขอและตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

4.การตรวจสอบสถานประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งประกอบไปด้วย

การตรวจสอบก่อนการก่อสร้างหรือเริ่มประกอบกิจการ

การตรวจสอบก่อนการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์

การตรวจติดตาม ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต

การตรวจติดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ COP และตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

และ 5.การติดตามตรวจสอบกรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงานในพื้นที่รับผิดชอบ
สำหรับขั้นตอนการขอรับใบอนุญาต ผู้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ตามแต่ละประเภทใบอนุญาต ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร แล้วจึงนำเสนอความเห็นต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นไปตามระเบียบต่างๆ

ภารกิจที่ 2 การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน

แนวนโยบายพื้นฐานว่าด้วยกิจการพลังงานภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้พลังงาน และประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ ตรวจสอบ กำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ

โดย กกพ. แต่งตั้ง ผู้แทนผู้ใช้พลังงานจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านกระบวนการสรรหามาดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัติมาตรา 100 การที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาต และมาตรา 103 เรื่องที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจถูกเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม ซึ่งสำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 จะดำเนินการประสานงานกับ คพข. เพื่อรับเรื่องร้องเรียน และดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน หรือผู้ประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพบริการและแก้ไขเรื่องร้องเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานและผู้ประกอบกิจการพลังงานอย่างเสมอภาคกัน

คพข. ประจำเขต 6 ประกอบไปด้วย ผู้แทนผู้ใช้พลังงาน 11 ท่าน ได้แก่ ผู้แทนภาคประชาชน จำนวน 9 ท่าน แบ่งตามสัดส่วนจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละจังหวัดดังนี้ จังหวัดชัยภูมิ 1 ท่าน จังหวัดนครราชสีมา 4 ท่าน จังหวัดบุรีรัมย์ 2 ท่าน และจังหวัดสุรินทร์ 2 ท่าน นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชน จำนวน 2 ท่าน คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 1 ท่าน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ท่าน

ภารกิจที่ 3 การกำกับดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมี กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล ภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะทำหน้าที่เป็นผู้รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด โดยแยกออกจากงบประมาณของสำนักงาน กกพ. และจะต้องถูกตรวจสอบการดำเนินงานโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. สำหรับการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กำหนดให้มีคณะกรรมการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุน แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

กองทุนประเภท ก เป็นกองทุนขนาดใหญ่ สำหรับประชาชนในตำบลภายในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยเป็น กองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งรวมกัน มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และมีเงินจัดสรรมาก มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กองทุนประเภท ก จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า หรือ คพรฟ. จำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน แต่ไม่เกิน 35 คน เพื่อดูแลทุกตำบลในพื้นที่ประกาศ และมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล หรือ คพรต. จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน ซึ่งจะดูแลในระดับตำบล
กองทุนประเภท ข เป็นกองทุนขนาดกลาง สำหรับประชาชนในตำบลภายในรัศมี 3 กิโลเมตร โดยเป็นกองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่มีพื้นที่ขนาดกลาง 1 แห่งหรือรวมกับขนาดเล็ก มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้า 100 ถึง 5,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และมีเงินจัดสรรปานกลาง 1- 50 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กองทุนประเภท ข จะมีการจัดตั้ง คพรฟ. เพื่อดูแลทุกตำบลในพื้นที่ประกาศ
กองทุนประเภท ค เป็นกองทุนขนาดเล็ก สำหรับประชาชนในตำบลภายในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยเป็น กองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก 1 แห่งหรือขนาดเล็กรวมกัน มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และมีเงินจัดสรรน้อย ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี สำหรับกองทุนประเภท ค มีการกำหนดให้ ผู้แทน อบต หรือเทศบาลในพื้นที่ประกาศ ส่งตัวแทน ไม่เกิน 3 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน และให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินโครงการตามความต้องการในการพัฒนาของคนในชุมชน

สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 มีกองทุนในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งหมด 2 ประเภทคือ

กองทุนประเภท ข จำนวน 7 กองทุน ดังนี้

1.กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา

2.กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา 4

3.กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา 8

4.กองทุนพัฒนาไฟฟ้า บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด

5.กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

6.กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดสุรินทร์ 1

และ7.กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดสุรินทร์ 2

นอกจากนี้ยังมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการแต่งตั้ง คพรฟ. และจัดสรรเงินเพื่อดำเนินโครงการชุมชน จำนวน 2 กองทุน คือ

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดบุรีรัมย์ 4

และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดชัยภูมิ 5
กองทุนประเภท ค จำนวน 52 กองทุน แยกตามรายจังหวัด ดังนี้

1.จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 7 กองทุน

2.จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 30 กองทุน

3.จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 11 กองทุน

และ 4.จังหวัดสุรินทร์ 4 กองทุน

สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 จะยังคง มุ่งมั่น พัฒนา และดูแลผู้ใช้พลังงานทุกคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป