25 April 2024


เดินเครื่องเต็มสูบ! ลุยดึงเอกชนร่วมทุนผุด“ท่าเรือบก”โคราช 7,700 ล้. เร่งของบ 38 ล้านทำ TOR (ชมคลิป)

Post on: Jul 24, 2019
เปิดอ่าน: 466 ครั้ง

 

ผู้ว่าฯ โคราช นำคณะบุก ท่าเรือบก ‘ลาดกระบัง’ ศึกษาแผนพัฒนาพร้อมส่งเทียบผู้ประกอบการและสายเดินเรือเข้าร่วมพัฒนาท่าเรือบกโคราช ขณะสายเดินเรือ ชี้โคราชมีศักยภาพสูงพร้อมทุกด้าน ห่วงความสมดุลของสินค้านำเข้าและส่งออก เหตุมีผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการ ชงของบ 38  ล้านรัฐบาลนายกตู่ ด้าน ปธ.สภาอุตฯ โคราช มั่นใจสินค้าเกษตรอีสานมีปริมาณส่งออกสูง สร้างแรงจูงใจต่อผู้ประกอบการ 

วันนี้ (24 ก.ค.)  ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ที่จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติ โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมพัฒนาเป็นท่าเรือบก 4 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 27,490 ล้านบาท หนึ่งในนั้นมีจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกำหนดที่ตั้งที่ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน พื้นที่ 1,800 ไร่ วงเงิน 7,740 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 2565 เปิดบริการปี 2568 คาดมีปริมาณสินค้า 287,400 TEUs นั้น

ล่าสุดนายวิเชียร  จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ได้นำคณะประกอบด้วย นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนจากส่วนราชการและสถานศึกษารวมถึงสื่อมวลชน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาท่าเรือบกพร้อมร่วมหารือกับผู้ประกอบการสายการเดินเรือเพื่อเป็นการนำมาปรับรูปแบบท่าเรือบก ให้เข้ากับบริบทของโคราช และหวังเชิญชวนผู้ประกอบการสายเดินเรือร่วมลงทุนพัฒนา การบริการบริหารพื้นที่ท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายนฤชา เชาวน์ดี หัวหน้ากองปฏิบัติการไอซีดี ลาดกระบัง ให้การต้อนรับ พร้อมกับผู้ประกอบการ 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS), บริษัท อิสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO), บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT), บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA), บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด (THL) และบริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD) รวมถึงบริษัทสายเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส เข้าร่วมหารือในครั้งนี้

นายณัฐพล มีเศรษฐี ตัวแทนบริษัทสายเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า โคราชมีศักยภาพสูงในทุกด้าน แต่ต้องการให้โคราชศึกษาเพิ่มเติมเรื่องความสมดุลของสินค้านำเข้าและส่งออก เพราะสายเรือจะต้องลากตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบังมาเก็บไว้ที่โคราช เพื่อนำมาบรรจุสินค้าส่งออก ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นทุกสายเรือจะมองในเรื่องของต้นทุน การบริหารจัดการ ถ้าต้นทุนถูกกว่ากัน 100-200 บาทก็ไปได้ หากจะเข้าไปร่วมทุนในการสร้างท่าเรือบกนั้น ต้องศึกษาข้อดี และข้อเสียว่า หากมาลงทุนด้านนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาหลายปัจจัย หากทำแล้วรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะเป็นประเด็นได้ เนื่องจากบริษัท โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค ถือว่าเป็นบริษัทที่ลงทุนข้ามชาติ การทำทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากบริษัทแม่ทั้งหมด เราจึงจะจัดการได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการท่าเรือบกที่โคราช จะเกิดได้ หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถที่จะตัดสินได้ เพราะเราได้รับฟังแค่ข้อมูล แต่เรายังไม่เคยไปเห็นสถานที่จริงว่า สถานที่จริงที่พูดมาเอื้ออำนวยต่อการขนส่งหรือไม่ หรือเรื่องของการคมนาคม เราเข้าใจว่ามีสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากทุกอย่างครบถ้วนหมด มีมอเตอร์เวย์มีรถไฟทางคู่ แต่ก็ต้องไปเห็นสถานที่จริง เห็นลูกค้า เห็นปัจจัยแวดล้อมทุกอย่าง เราถึงจะประเมินได้ว่าโครงการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้  ทั้งนี้ ทางบริษัทยินดีที่จะลงสำรวจในพื้นที่ ซึ่งบริษัท โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เป็นสายเดินเรือเดียวที่เข้ามาพูดคุยในครั้งนี้ เพราะตนคิดว่า โครงการกำลังจะเปิดใหม่ และหากเราเข้าร่วมจะเป็นเหมือนการเปิดสายตาเราสู่โลกภายนอกว่าที่อื่นทำอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้จะเกิดทุกประโยชน์ทุกที่ อะไรที่มีสินค้า เราลงไปแล้วได้สินค้า เราทำหมด

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า บริษัทสายเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส เกิดจาก 3 บริษัทที่ยุบรวมกันคือ กลุ่มสายการเดินเรือ Kawasaki Kisen Kaisha (“K” Line), Mitsui O.S.K. Lines (MOL) และ Nippon Yusen Kabushiki Kaisha (NYK) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด เป็นการรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น และต้องการเป็นเบอร์ 1 ของโลก ซึ่งปัจจุบันสายเรืออันดับ 1 จะเป็นสายเรือ Maersk Line แต่เรามั่นใจว่าเราจะเดินไปในทิศทางที่บริษัทแม่ตั้งเป้าหมายไว้ ปีที่ผ่านมาบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านทีอียู ซึ่งสามารถทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนปีนี้ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านทีอียู แต่ด้วยหลายปัจจัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ หรือการส่งออกที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท และสงครามการตลาด เลยอาจยังทำได้ไม่ถึงเป้า ดังนั้นเราจึงต้องมาคิดกลยุทธ์ใหม่ในการทำงานว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้บริษัทก้าวไปถึงจุดเป้าหมายที่กำหนดได้

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โคราชมีปริมาณการส่งออกในภาคอีสานคิดเป็น 35% จุดที่ สนข.ชี้คือ พื้นที่ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จะเป็นจุดที่ไม่ต้องสร้างถนนใหม่ ไม่ต้องสร้างรางรถไฟใหม่ และเป็นจุดที่มีความสะดวก เพราะอยู่ภายใต้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมนวนคร และพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในโซนเขตสีม่วง คือเป็นเขตอุตสาหกรรมตามผังเมือง  ซึ่งสินค้าที่ใช้การขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลัก คือ สินค้าเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งกำลังการผลิตของทั้งประเทศจะอยู่ที่โคราชถึง 30% คือมีพื้นที่การปลูกมากที่สุดในประเทศ คือ1.4 ล้านไร่ และข้าว พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกตั้งแต่ 3 ล้านไร่ขึ้นไปมีไม่กี่จังหวัด เช่น อุบลราชธานี 3.9 ล้านไร่ นครราชสีมา 3.4 ล้านไร่ รองลงมาคือ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งโคราชจะกวาดพื้นที่การส่งข้าวทั้งหมดในโซนอีสานใต้ ต้องมาใช้ท่าเรือบกที่โคราชในการทำธุรกรรมด้านการส่งออก โดยโคราช จะเป็นจุดอุโมงค์ที่มีการสแกนสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้นำคณะจากทั้งภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ เข้ามาศึกษาดูงานที่ ICD ลาดกระบังซึ่งเป็น ICD ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วกว่า 24 ปี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่เรานำไปใช้ในเรื่องการจัดสร้าง Dry Port หรือท่าเรือบก ที่จังหวัดนครราชสีมา  สำหรับการดำเนินการท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเขียนข้อเสนอ หรือ TOR เพื่อหาผู้ที่สนใจมาร่วมลงทุนกับทางจังหวัด ซึ่งจะต้องหางบประมาณมาจ้างให้มีบริษัทมาเขียน TOR ให้เรา เมื่อเขียนเสร็จเราต้องเสนอไปที่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบในข้อเสนอ ซึ่งเราจะใช้ข้อเสนอตรงนี้ในการหาผู้ร่วมทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

“จากการพูดคุยกับบริษัทผู้ประกอบการที่ ICD ลาดกระบัง ทั้ง 6 บริษัท และได้พบกับสายเรือนั้น ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการได้ให้คำแนะนำที่สำคัญหลายๆ เรื่อง โดยเรื่องสำคัญหลักๆ คือ สินค้าที่จะมาใช้ที่ท่าเรือบกขนผ่านตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้ระบบทางราง หรือระบบขนส่งทางรถยนต์ แต่หลักสำคัญต้องดูว่าอะไรถูกที่สุด หากเราสามารถขนตู้คอนเทนเนอร์ ไปท่าเรือโดยทางรถไฟ ถูกกว่ารถยนต์ ผู้ประกอบการก็จะต้องเลือกไปที่รถไฟแน่นอน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการให้คำแนะนำมาคือ ตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้าควรมีจำนวนมาก ฉะนั้นหากเราสามารถรวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ที่จะไปจังหวัดนครราชสีมาให้เดินทางโดยรถไฟ และเมื่อเดินทางไปถึงนครราชสีมาและเปลี่ยนเป็นตู้ที่จะรับสินค้าจากทางโคราช เพื่อจะมาส่งทางรถไฟ และเข้ามาที่ท่าเรือ ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ถูกลง” นายวิเชียร กล่าว

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า จากเดิมแล้วข้อศึกษาของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งสมมุติฐานว่าตู้คอนเทนเนอร์ทุกอย่าง จะเป็นตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากบริษัท และขึ้นทางรถไฟเพื่อบรรจุสินค้า และคิดค่าใช้จ่ายเมื่อบรรจุแล้วส่งมาที่ท่าเรือ แต่วันนี้ผู้ประกอบการให้คำแนะนำ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ควรมีการประสานกับบริษัทที่นำเข้าให้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ที่เราจะนำไปรับสินค้าที่โคราช ซึ่งเราก็จะมีรายได้เพิ่มสองทาง จะทำให้การจัดทำท่าเรือมีรายได้เพิ่มอีกส่วนหนึ่ง

“วันนี้ทางเรายังได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมระบบการทำงานของบริษัท NYK เห็นระบบของการรับสินค้า รับตู้คอนเทนเนอร์ ระบบการจัดเก็บ หรือระบบการปล่อยสินค้า ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ที่เราจะนำไปใช้ในการวางแผนสำหรับการหาผู้ร่วมทุน ท่าเรือบกที่โคราชต่อไป”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เนื่องจากเอกชนเป็นระบบธุรกิจ และต้องการการแข่งขันอยู่แล้ว ฉะนั้นหากจังหวัดมีท่าเรือบกเกิดขึ้น และมีเอกชนรายใดรายหนึ่งไป เขาเห็นว่าสามารถทำกำไรได้ ก็คิดว่ารายอื่นก็จะตามกันไป เพราะเป็นธุรกิจที่พวกเขาจะแข่งขันกันอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชนอาจจะต้องการตัวเลขที่ชัดเจน เมื่อมีการทำ TOR (Term of Reference) เสร็จ เราก็จะนำ TOR นี้มาเสนอ เผื่อว่าผู้ประกอบการเหล่านี้สนใจร่วมกับเรา

“สำหรับการจัดทำ TOR ขณะนี้รองบประมาณจะกระทรวงคมนาคม ถ้าได้รับงบประมาณในปี 2563 ก็จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี เพราะฉะนั้นช่วงสิ้นปี 2563 จะต้องนำ TOR ส่งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ ใช้เวลาประมาณครึ่งปี และเมื่อมีมติเห็นชอบแล้ว เราถึงจะประกาศหาผู้ร่วมทุน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2ปี จึงจะสามารถเริ่มสร้างได้ โดยจะสอดรับกับแผนดำเนินการรถไฟความเร็วสูง ทางการศึกษาวิจัยเห็นว่า เราควรจะเปิดท่าเรือบกที่นครราชสีมาในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 เราอาจจะเริ่มลงมือสร้าง ส่วนงบประมาณที่ขอไป ประมาณ 38 ล้าน และต้องเร่งสร้างให้ได้ในปี 2563 หากช้ากว่านี้ ก็จะทำให้ช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้  นอกจากการทาบทามเอกชนภายนอกแล้ว ทางจังหวัดยังได้เชิญชวนกุล่มทุนท้องเช่น บริษัท P.C.S. จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันมีโรงงานตั้งยู่ ในพื้นที่ ต.โคกกรวด” นายวิเชียร  กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นศูนย์ท่าเรือบกขนาดกลาง มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 200,000 ตู้ต่อปีขึ้นไป บนเนื้อที่ 1,800 ไร่ โดยมีค่าดำเนินการดังนี้ ค่าชดเชยที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง 3,140 ล้านบาท, ค่าปรับสภาพดิน 740ล้านบาท, ค่าออกแบบรายละเอียด 70 ล้านบาท,ค่าก่อสร้าง 2,160 ล้านบาท, ค่าอุปกรณ์ 800 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท และค่าควบคุม  งานก่อสร้าง 70 ล้านบาท รวม 7,000 ล้านบาท (ต้นทุนราคาปี 2561) ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ต่อปี 62  ล้านบาท โดยมีเวลาออกแบบก่อสร้างและติดตั้งระบบ ตั้งแต่ปี 2565-2567 ก่อนจะเปิดใช้ได้จริงปี 2568