20 April 2024


สุดยอด! นักวิจัย ม.ราชภัฎโคราชพบข้าวเม่าหอมมะลิอัจฉริยะบำรุงสมอง เพิ่มมูลค่าข้าวไทย

Post on: Nov 19, 2020
เปิดอ่าน: 1,100 ครั้ง

 

นักวิจัย ม.ราชภัฎโคราชค้นพบข้าวเม่าอัจฉริยะบำรุงสมองให้ประโยชน์ เกินกว่าข้าวระยะอื่นภายใต้แบรนด์ข้าว “อุ้มรัก”   เผยข้าวหอมมะลิระยะเม่า ปลูกในพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พิมายโคราช  แก้ปัญหาให้กลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เตรียมพัฒนาเป็นข้าวเชิงพาณิชย์เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ชาวนาไทย

 

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่านครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนคราชสีมา เป็นประธานเปิดตัว  “ข้าวหอมมะลิระยะเม่า..ข้าวอัจฉริยะบำรุงสมอง”และจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ข้าวGIโคราช-ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ และงานแสดงสินค้าเกษตร นิทรรศการงานวิจัยด้านข้าวจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเป็นการสื่อสารการตลาด สร้างการรับรู้และเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคข้าวโดยตรง  โดยมี ผศ.ดร.อดิศร  เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา พร้อมด้วย ผศ.ดร.วาสนา  ภานุรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารวิชาการและเผยแพร่ศูนย์นวัตกรรมแปรรูปและพัฒนาทางการเกษตรครบวงจร ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา หัวหน้านักวิจัย และ  รศ.เนตรชนก  บัวนาค รอง ผู้อำนวยการบริหารวิชาการฯ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน

ผศ.ดร.อดิศร  เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ  เปิดเผยว่า    มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) ดำเนินงานวิจัยปี 2563 “การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ จังหวัดนครราชสีมา”

ทั้งนี้เพื่อพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและควบคุมการเขตกรรมข้าวหอมมะลิระยะเม่าให้ได้ข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเม่าในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้  เพื่อสร้างและยกระดับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ Smart Farmer และ Smart Farming ตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากสู่เป้าการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐในจังหวัดนครราชสีมา โดยการดำเนินงานวิจัยดังกล่าวมีแผนการดำเนินงานบูรณาการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมาและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่

ด้าน ผศ.ดร.วาสนา ภานุรักษ์  หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า เมื่อปี 2561 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน)ได้สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยโครงการ “การผลิตและแปรรูปข้าวระยะเม่า พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และทับทิมชุมแพ (กข.69) สู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น” เพื่อเป็นแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพดีและมากที่สุด แก้ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารอีกทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกข้าวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากเป็นข้าวที่อยู่ในระยะแป้งอ่อน

ผลการวิจัยพบว่า ข้าวหอมมะลิระยะเม่ามีปริมาณโฟแลตสูง เบต้าแคโรทีน วิตามินอี วิตามินบี1 วิตามินบี2 ไนอะซิน และมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จากการทดลองใช้ข้าวหอมมะลิระยะเม่าเพื่อเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตทดแทนในการป้องกันการเกิดโรคทางเมตาบอลิกในหนูเมาซ์ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า สามารถควบคุมระดับไขมันและระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีหรือกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด และ โรคความดันฯ  รวมถึงยังมีปริมาณโฟเลตสูงช่วยบำรุงสมอง เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ตั้งครรภ์  ผู้สูงอายุ เยาวชน หรือประชาชนที่ต้องการรักษาสุขภาพทั่วไปได้  จากผลงานวิจัยดังกล่าวนำมาสู่การพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องในระยะที่ 2 ในปี 2563 โครงการ“การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ จังหวัดนครราชสีมา” เพื่อพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและควบคุมการเขตกรรมข้าวหอมมะลิระยะเม่าให้ได้ข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเม่าในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ และสร้างและยกระดับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ Smart Farmer และ Smart Farming ตลอดห่วงโซ่การผลิต ขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากสู่เป้าหมายการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐในจังหวัดนครราชสีมาโดยมีเป้าหมายสามารถลดปริมาณปัจจัยการผลิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และเกิดการกระจายรายได้ของกลุ่มเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจที่ร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 240,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตลอดไป