26 April 2024


ก้าวทันยุคดิจิตัล! “Smart Farmer” ฝันที่ไม่ไกลของเกษตรกรไทย

Post on: Sep 28, 2016
เปิดอ่าน: 806 ครั้ง

เราเชื่อมั่นมาตลอดว่า…เกษตรกรเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา เพราะภาคเกษตรมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงปากท้องประเทศ และเป็นภาคส่วนที่มีฐานประชากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ด้วยข้อได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่เหมาะสม ซึ่งจะเอื้อให้ประเทศไทยของเรายังคงโดดเด่นในเรื่องการทำการเกษตร จึงควรที่จะมีการนำเอานวัตกรรม ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมสร้างเกษตรกรรมของเราให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างความได้เปรียบ และความโดดเด่นของสินค้าเกษตรให้มากยิ่งขึ้น

สมาร์ทฟาเมอร์-web1

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เป็นหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไปสู่ความเป็น Smart Farmer มุ่งใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเครือข่ายบริการที่เข้าถึงทุกพื้นที่ประเทศไทย ส่งต่อองค์ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ การผลิต การบรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ และการตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ในปี 2559 ดีแทคได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาภาคการเกษตรในหลายมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรรม สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกร เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

สมาร์ทฟาเมอร์-web2

“ดีแทค” และกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมจัดทำหลักสูตรการอบรม ‘การเกษตรเชิงพาณิชย์’ ให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะของเกษตรกรสู่ความเป็น Smart Farmer รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางรูปแบบการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและโมบายแอปพลิเคชั่น รวมไปถึงการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยในปีนี้ ได้จัดการฝึกอบรมให้แก่ Young Smart Farmer ไปแล้วรวม 2,400 ราย

คำบอกเล่าจากเกษตรกรผู้เข้าอบรมหลักสูตร ‘การเกษตรเชิงพาณิชย์’

ว่าที่ร้อยตรี พิทักษ์ พึ่งพเดช หรือ เดี่ยว บ้านแพ้ว เจ้าของแบรนด์ DEAW BANPHAEO ชาวสวนมะพร้าววัย 28 ผู้ที่ปลุกกระแสมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่มต่อแถว

“ผมเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ตั้งแต่โครงการเกษตรกรคลื่นลูกใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ และล่าสุด Young Smart farmer ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ได้ร่วมกับดีแทค สอนวิธีการสร้างเพจให้ จากที่เคยใช้เฟซบุ๊ก และไลน์ ประสานงานระหว่างลูกค้า เริ่มสร้างเพจ โดยมีเพจวิสาหกิจชุมชน เป็นกลุ่มเกษตรมะพร้าวน้ำหอม และเพจของตัวเองตั้งชื่อว่า coco style me ตั้งใจไว้เป็นช่องทางที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคว่า น้ำมะพร้าว DEAW BANPHAEO สดจากสวนจริง ไม่ได้เติมน้ำตาล ไม่ได้เน้นการขายเป็นหลัก แต่ไว้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราว ขั้นตอนการปลูก จนมาเป็นน้ำมะพร้าว DEAW BANPHAEO เพื่อให้ลูกค้าติดตาม แล้ววันหนึ่งเขาจะมาเยี่ยมชมสวนเรา เมื่อนั้นเขาก็ซื้อผลิตภัณฑ์กลับไป

สมาร์ทฟาเมอร์-web3

“ดีแทคมาช่วยผมเปิดความหวานจริงและได้เติมเต็มในส่วนที่ผมตกหล่นไป ทำให้เพจ coco style me เป็นมืออาชีพมากขึ้น ดีมากเลยครับ อยากให้มาอบรมบ่อยๆ แม้มีไลน์กลุ่มให้ถามได้ตลอดเวลา แต่คุยกันเข้าใจง่ายกว่า ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาส พอรู้ว่าพวกพี่ๆ ทีมดีแทคจะมา อบรม พวกผมรวมกลุ่มอบรมเตรียมความพร้อมกันระดับหนึ่ง ในชั่วโมงเรียนจะได้รับข้อมูลเยอะๆ เพียงแค่ 1 เดือนที่เปิดเพจ coco style me ผมเริ่มไม่ต้องตอบคำถามผู้บริโภคแล้ว ที่น่าดีใจกว่านั้น ทุกวันจันทร์ที่ตลาดนัดกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ผมขนมะพร้าวไป 1,000 ลูก ขาย 4 ชั่วโมงหมด ลูกค้าเข้าคิวรอกันเลย เมื่อเพจ coco style me ทำงานเต็มสตรีม ผมจะได้ไม่ต้องตื่นเช้าไปขายน้ำมะพร้าว กลับดึก เสียค่าน้ำมัน ไม่มีเวลาดูแลสวน เปลี่ยนเป็นลูกค้ามาหาที่สวนแทน

“ผมวางแผนไว้ว่า จะเตรียมรับรองแบบโฮมสเตย์ท่ามกลางสวนมะพร้าว ดื่มกินมะพร้าวให้เต็มที่ ตกปลาขึ้นมาทำอาหาร เป็นก้าวต่อไปของ DEAW BANPHAEO ครับ”

คุณลักคนา ไกรบำรุง เจ้าของนาตาฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน ที่ทำเกษตร 5 เดือนรายได้มากกว่าทำงานประจำ 8 ปี

สมาร์ทฟาเมอร์-web4

“ตอนนี้ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนที่ชัยภูมิ ที่พอเป็นที่รู้จักมี 3 ฟาร์ม นาตาฟาร์มเป็นหนึ่งในนั้น นาพยายามประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนเยอะๆ แต่คงต้องใช้เวลา เพราะเขาใช้ปุ๋ยเคมีจนชิน พอโครงการ Smart Farmer ของดีแทคเข้ามาสอนหลักสูตรการทำการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ จากที่นาเคยใช้เฟซบุ๊กไว้พูดคุย ก็ทำให้เราเห็นคุณค่าของเพจว่า เหมือนเป็นหน้าร้าน นาถามวิทยากรอย่างละเอียดเลยถึงการใช้เฟซเพื่อการสื่อสารทางการตลาด อย่างน้อยน่าจะเป็นช่องทางช่วยประชาสัมพันธ์และแชร์ประสบการณ์ให้คนรักไส้เดือนได้กว้างขึ้น เรียนเสร็จก็กลับมาสร้างเพจตั้งชื่อว่า นาตาฟาร์ม ตั้งใจให้เป็นเพจสำหรับคนรักไส้เดือน โดยนำรูปตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนมาลงทีละขั้นตอน จากที่เคยเซลฟี่กับไส้เดือนซื่อๆ ได้เรียนรู้หลักการถ่ายภาพจากดีแทคทำให้ได้มุมที่สวยขึ้น ดีแทคยังสอนให้ใช้รูปจากสติ๊กเกอร์ไลน์มาแต่งภาพ ทำให้เพจน่าสนใจขึ้น นาอัพโชว์เพื่อนในกลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซ เพื่อนเห็นก็บอกให้สอนบ้าง ชีวิตดีขึ้นเยอะเลย เวลาลูกค้าอยากได้ข้อมูลหรือมีปัญหาก็ส่งข้อความมาถามได้ นายินดีตอบ ไม่กั๊ก ไม่หมกเม็ด นาเชื่อว่า เมื่อเขาวางใจ ยอดซื้อจะตามมาเอง เหมือนที่ลูกค้าเข้ามาสั่งของในเฟซบุ๊ก เป็นการค้าขายที่ยั่งยืนกว่า

“นาพูดจากใจเลยว่า โครงการ Smart farmer ของดีแทคดีมาก หากเพจไส้เดือนสมบูรณ์แล้วจะทำเพจข้าว เพราะอาชีพหลักนาคือ ปลูกข้าว ทำโรงสี แปรรูปข้าวทุกชนิด เป็นเพจที่เน้นข้าวจากมือชาวนาถึงมือผู้บริโภค”

“ดีแทค” จะมุ่งมั่นเดินหน้าจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาเกษตรกรกลุ่มนี้ ใช้ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในการทำการตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้พวกเขาก้าวไปสู่ความเป็นเกษตรกรต้นแบบ ส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดบทเรียน และเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อไป