26 April 2024


เมืองมหาลัย! มทส.จับมือ เอไอเอสพัฒนานวัตกรรมเสริมสร้างแนวคิดเมืองอัจฉริยะ Smart City

Post on: Feb 11, 2018
เปิดอ่าน: 525 ครั้ง

 

มทส.จับมือ เอไอเอส พัฒนาเครือข่ายแถบความถี่แคบ (NB-IoT)ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง(IoT)สร้างนวัตกรรมใหม่

AIS-2ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้จัดให้มีพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายแถบความถี่แคบ สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง มทส. – AIS (SUT – AIS Narrow Band Internet of Things Development Project: NB–IoT)”  พัฒนานวัตกรรมเสริมสร้างแนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ในเมืองมหาวิทยาลัย ระหว่างมทส.กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือ เอไอเอส โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี อาจารย์ ดร.เศรษฐวิทย์ ภูฉายา และคณาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. พร้อมด้วย นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้บริหารและทีมงานเอไอเอส

AIS-1 รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา กับหน่วยงานและสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งมหาวิทยาลัยมีแนวทางดำเนินการโครงการสร้างระบบการบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยี ICT และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็น Digital University ดังนั้น การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายแถบความถี่แคบ สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง มทส. – AIS โดยความร่วมมือระหว่าง สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. กับ เอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักพัฒนา นักวิจัย ได้เข้าถึงเทคโนโลยี Narrow Band Internet of Things (NB-IoT) เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคมและระบบสหกิจศึกษา ให้นักศึกษาสามารถฝึกปฏิบัติงานจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานจริงที่ติดตั้งอยู่ที่บริษัทและภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงผลิตบัณฑิตเป็นวิศวกรทางด้านโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรของบริษัทในระดับวิศวกร ทั้งการจัดฝึกอบรม การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีใหม่ หรือ การศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา”

AIS-3

AIS-4ดร.เศรษฐวิทย์ ภูฉายา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย Narrow Band Internet of Things (NB-IoT)  โดย  เอไอเอสจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์สถานีฐานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้งานจริงในปัจจุบัน สำหรับการแพร่กระจายสัญญาณเครือข่ายแถบความถี่แคบสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง ให้ใช้สำหรับประกอบการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ในลักษณะที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้และเข้าไปปฏิบัติงานจริงกับอุปกรณ์เหล่านี้ที่ติดตั้งจริงภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี การทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของเครือข่ายต่อการให้บริการเชื่อมต่อระหว่าง Server กับ ตัวตรวจรู้ชนิดต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าอินฟราเรดระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่รองรับ NB-IoT และวางแผนการใช้งานเครือข่าย NB-IoT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 และ พัฒนานวัตกรรมเสริมสร้างแนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมืองด้านต่าง ๆ

สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เสริมสร้างแนวคิดเมืองอัจฉริยะในเมืองมหาวิทยาลัย อาทิ การสัญจรอัจฉริยะ การวางระบบการคมนาคมที่เหมาะสมกับการสัญจรทุกประเภท ระบบขนส่งที่เชื่อมต่อไปยังเขตเมืองรอบนอก ระบบ Smart Parking จองช่องจอดรถยนต์ นวัตกรรมอัจฉริยะ ดำเนินนโยบายพัฒนางานวิจัย สร้างนวัตกรรม โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปสู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้งานได้จริง ให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ นวัตกรรมอัจฉิรยะเพื่อสังคมผู้สูงอายุและสนับสนุนด้านการให้บริการด้านการแพทย์ การตรวจสอบและติดตามผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ การดูแลคุณภาพยาและเวชภัณฑ์ภายในคลังยาด้วยเทคโนโลยี NB-IoT  เกษตรกรรมอัจฉริยะ การตรวจสอบ ติดตาม เก็บข้อมูลสภาพอากาศ ดิน น้ำ ลม แสงแดด นำมาวิเคราะห์วางแผนการเพาะปลูกพืชผลและลดต้นทุน  ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี NB-IoT เข้ามาใช้งานร่วมกับการพัฒนาตัวตรวจรู้ชนิดต่าง ๆ โดยติดตั้งตัวตรวจรู้กับบอร์ดประมวลผลและส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย NB-IoT ไปยัง Server เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำปริมาณที่สามารถวัดได้ไปใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองอัจฉริยะต่อไป”

AIS-5

AIS-6ด้าน นายวีรวัฒน์  เกียรติพงษ์ถาวร  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และองค์กร  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสาร ที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพบริการในทุกด้านแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล อันจะเป็นการสร้างการเรียนรู้และวางรากฐานให้แก่นักศึกษาที่จะเป็นบุคลากรสำคัญในการเสริมขีดความสามารถของประเทศ ดังเช่น ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในครั้งนี้ ที่ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี IoT บนโครงข่าย NB-IoT ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”

IoTหรืออินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ถือเป็นเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมการใช้ชีวิตและปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม ตลอดจนรูปแบบของการบริหารจัดการเมือง หรือ Smart City ไปอีกขั้น ที่ผ่านมาเอไอเอส จึงเตรียมเทคโนโลยีเครือข่าย NB – IoT หรือ Narrow Band Internet of Things เพื่อรองรับการมาถึงของเทคโนโลยีไว้อย่างพร้อมสรรพ โดยประโยชน์ของ NB IoT ประกอบด้วย

– สนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ จึงช่วยให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ IoT อยู่ได้นานถึง 10 ปี

– รองรับปริมาณอุปกรณ์ IoT ได้สูงสุดในระดับแสนตัวต่อสถานีฐาน

– มีรัศมีครอบคลุมของเครือข่ายต่อสถานีฐาน กระจายได้มากกว่า 10 ก.ม. แม้แต่ในตัวอาคารก็ยังรับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะบ่มเพาะขีดความสามารถของนิสิต นักศึกษา ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของการสร้างระบบนิเวศน์ของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT Ecosystem ที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้พัฒนาเครือข่าย ผู้พัฒนา Solutions/Application นักศึกษาที่เป็น Maker ได้มาร่วมวิจัย ทดสอบ และพัฒนาบริการให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน” นายวีรวัฒน์กล่าว

AIS-7