26 April 2024


“สุรเกียรติ์”ชมเปาะทีมศก.ใหม่รบ.“ประยุทธ์”เดินถูกทางมุ่งฐานราก จี้เร่งลงทุนระบบขนส่ง

Post on: Sep 30, 2015
เปิดอ่าน: 680 ครั้ง

“สุรเกียรติ์”ชี้ ปัจจัยลบภายนอกและในประเทศทำเศรษฐกิจไทยซบเซา อีกทั้งเข้าสู่สังคมสูงอายุ รายได้ต่ำหนี้ครัวเรือนสูง สินค้าเกษตรที่ไม่พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านปชต. ชมเปาะทีมศก.ใหม่รัฐบาล“ประยุทธ์” เดินมาถูกทาง อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ฐานรากให้เข้มแข็ง หนุนเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งและระบบราง ชี้อีสานได้เปรียบแปรจุดอ่อนเป็นจุดแข็งยั่งยืนได้

 ดร สุรเกียรติ -web1  

วันนี้ ( 30 ก.ย. ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (APRC)อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวขณะเดินทางมาปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางเศรษฐกิจอีสาน หลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์” ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน)  อ.เมือง จ.นครราชสีมาว่า  ข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทย คือ 1. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)  ซึ่งประเทศไทยอยู่ตรงกลางของสังคมผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ซัมซุง  และ บริษัท แอลจี ย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเวียดนาม เพราะขาดบุคคลกรในวัยทำงานขณะเดียวกันค่าแรงสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้สังคมผู้สูงอายุเข้ามาเร็วกว่าที่คิดเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป  เช่น อาจให้มีการเกษียณอายุช้าลงหรือไม่   หรือให้คนเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้นหรือไม่ เป็นต้น  ซึ่งประเทศเข้ามาสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างจากประเทศอื่นๆ  เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน แต่ข้อสังเกตคือ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยประชาชาติสูงกว่าประเทศไทย  ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำหรือปานกลาง หรือ เรียกว่าแก่ก่อนจะรวย การแก้ปัญหาจะต้องแตกต่างกับประเทศเหล่านี้

2.การติดกับดักรายได้ ต่ำ-ปานกลาง  ต้องยอมรับว่าประเทศเราประชากรมีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เราถูกบีบจากประเทศที่ด้อยกว่าและสูงกว่า  ปัจจัยสำคัญที่เราจะหลุดออกจากกับดักนี้ได้คือINNOVATION หรือนวัตกรรม ความคิดริเริ่มใหม่

3.การขาดนวัตกรรม  เราผลิตในสิ่งที่ตามคนอื่นเสมอ ประกอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตามเค้ามาเสนอ ประเทศอื่นก็ผลิตได้เหมือนเรา ไทยผลิตอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ขึ้นมาสิ่งสำคัญคือเราไม่ได้ไต่บันได นวัตกรรมที่สูงขึ้นเลย ทำให้รายได้ไม่สูงขึ้นตามมาด้วย

ดร สุรเกียรติ -web2

4.การพัฒนาเศรษฐกิจ ในประเทศเป็นการพัฒนาที่เพิ่มระดับหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ก็เพิ่มขึ้น ฉะนั้นเราไม่ได้เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ประเทศไทยเติบโตโดยเน้นการส่งออกไม่สมดุลกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเราพยายามทำมานาน 10-15 ปีแล้ว โดย ต้องดูตัวอย่างจาก  ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมัน อเมริกา ประเทศเหล่านี้เติบโตเข้มแข็งมาเพราะเศรษฐกิจในประเทศ  แต่ปัญหาของเราแม้จะเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตขึ้น ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการส่งออก ซึ่งเมื่อโตขึ้นแล้วหนี้ก็โตเป็นเงาตามตัว จนขณะนี้หนี้ภาคครัวเรือนสูงในระดับสูงมาก

ทั้งนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งทีมใหม่ ทีมเก่าจึงมีความห่วงใยและให้ความสำคัญตรงนี้ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้องว่าทำอย่างไรที่เงินใส่ลงไป เศรษฐกิจฐานรากจะไม่นำสู่การชำระหนี้ทั้งหมด เพราะหากนำไปสู่การชำระหนี้ทั้งหมด ก็ไม่สามารถนำไปสู่การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจฐานรากนั้นมีวงจรการใช้เงิน 5-6 เท่า เงินใส่ลงไป 10 บาทมีค่าเท่ากับ 60 บาท เพราะคนยากจนใช้จ่ายมากกว่า  แต่คนมีเงินนำเงินไปเอาไปฝากแบงก์แล้วก็จบ ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาลใด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี และเป็นเรื่องข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทย

5.การพัฒนาการผลิตทางด้านเกษตร ที่ไม่เน้นประสิทธิภาพการผลิตมากเท่าที่ควร จะเห็นได้ชัดเจนว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา เราค่อนข้างใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นพืช ไร่ ข้าว ประมง

6.ข้อจำกัดช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ต้องยอมรับกันว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีความขัดแย้งออกไปสู่ถนน มีความเสี่ยงต่อการปะทะการสูญเสียเลือดเนื้อ การทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศรวมถึงอาเซียน ความเสี่ยงเหล่านี้ลดน้อยลงก็จริง แต่ไทยยังมีข้อจำกัดในการสื่อสารกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในตะวันตก และ อเมริกา ข้อจำกัดเหล่านี้มีประเด็นเป็นข้อจำกัดคือ เป็นปัญหาที่หมักหมม มาเป็น 10 ปี แต่ฝีเพิ่งมาแตกตอนนี้ และเราต้องแก้ไขฝีที่แตกกับต่างประเทศ เช่น เรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ไขปัญหาและทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันข้อจำกัดที่ผู้นำของ 2 ประเทศไม่สามารถพูดกันได้โดยตรงเพื่อทำให้อันดับเราดีขึ้น ก็ยังไม่เป็นที่คาดหวัง  ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศอาจไม่มีความมั่นใจ  รวมทั้งเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

และ 7. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว  ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียนเองชะลอตัว แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐ จะขึ้น แต่ยังไม่ดีพอที่จะดึงส่งออกของเราขึ้นได้

ดร สุรเกียรติ -web3

ดร. สุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย  คือ 1.นโยบายเศรษฐกิจรากฐาน ของทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล คิดว่าไปได้ถูกทางอย่างมาก เครื่องยนต์ที่จะดึงประเทศไทยขึ้นไปได้ท่ามกลางข้อจำกัดคือ อันแรกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการแก้ไขปัญหาน้ำ 3-4 แสนล้านบาท เรื่องการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระบบราง รถใต้ดิน รถบนดิน รถไฟเชื่อมอีสาน แหลมฉบัง เป็นต้น รวมมูลค่าก่อสร้าง  2.7 ล้านล้านบาท เป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องออกมาให้เร็วที่สุดเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอยู่

แต่สิ่งเหล่านี้พูดง่ายกว่าทำมาก จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาเงินยังไม่ออกเพราะขบวนการประมูล และยิ่งให้โปร่งใส ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง และทุกคนระวังตัวหมด   แต่การกลัวเกินไปอาจทำให้งานออกช้า

2.ได้มีการทุ่มงบประมาณไปสู่ฐานรากเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเงินลงไปสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท เรื่องการให้ความเข้มแข็งกับโครงการ 30 บาท และการให้ความเข้มแข็งกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรื่องการให้สินเชื่อและลดอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง

3.เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปดีขึ้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้นและหวังว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถซื้อสินค้าของไทยได้มากขึ้น

4.ราคาน้ำมันยังต่ำ และ 5. โอกาสในการแปรจุดอ่อนของอีสานให้เป็นจุดแข็ง และทำให้จุดแข็งยั่งยืน จากความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ซึ่งมีการเกิดขึ้นของเมืองทุกแห่งในภาคอีสานทำให้เติบโต และภาคอีสานมีบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองสูงเต็มไปด้วยปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอีสานกลายเป็นภูมิภาคที่เชื่อมต่อกับประเทศอาเซียนมากที่สุด ทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม และล้วนเป็นประเทศมีศักยภาพที่มีเศรษฐกิจดีไม่ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้

ที่สำคัญภาคอีสานเป็นศูนย์กลางบูรณาการทางเศรษฐกิจประเทศลุ่มน้ำโขงและอยู่ตรงกลางยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ,ยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจประเทศลุ่มน้ำโขงกับจีน ,ยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น และกรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการลดภาษีนำเข้าของประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น