27 April 2024


ตัดวงจรกดราคา! “น้าสน”ผ่าทางตันสินค้าเกษตรพลังงาน หนุนใช้นวัตกรรมสู่ความมั่งคั่ง

Post on: Jan 28, 2020
เปิดอ่าน: 421 ครั้ง

 

“น้าสน” ผ่าทางตันยกระดับสินค้าเกษตรพลังงาน หนุนใช้นวัตกรรมตลอดแวร์ลู่เชนเพื่อตัดวงจรการถูกกดราคาสู่ความมั่งคั่ง สุดปลื้มผลงาน EA ผุด PCM เพิ่มมูลค่าจากน้ำมันปาล์มดิบถึง 3 เท่า และผู้ประกอบการด้านพลังงานเดินตามรอยและกล้าคิดนอกรอบ เผยเตรียมนำบล็อคเชนมาติดตั้งโรงสกัดปาล์มป้องกันการลักลอบนำเข้าด้วย


เมื่อวันที่27 ม.ค.63  บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้จัดงาน EA : CSI Energy company Innovation for us all พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชันซื้อขายปาล์มครั้งแรกในโลก โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติร่วมงาน โดยมีนายสมโภช อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA และคณะ ให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนวัตกรรม PCM และ platform “ปาล์มยั่งยืน” ด้วย ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างเปิดงานว่า ตนเดินทางมาร่วมงานวันนี้เพื่อมาส่งเสริมและยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งกลไกสินค้าเกษตรในบ้านเราถูกกดราคามาโดยตลอด เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็อยู่ในวงเวียนเดียวกันนี้ วิธีแก้ไขคือ ต้องนำเอานวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพราะถ้ายังขายสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิมก็จะประสบปัญหาซัพพลายมากกว่าดีมานด์แบบนี้ตลอดไป

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันด้วยการส่งเสริม B10 สามารถสร้างเสถียรภาพราคาได้ดีกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา และวันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันขึ้นไปอีกระดับจาก B10 โดยทางบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ฯ ได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตต้นแบบ ‘สารเปลี่ยนสถานะ’ หรือ PCM (Phase Change Material) จากน้ำมันปาล์ม ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก 20 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 60-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อพัฒนาเป็นสาร PCM แล้ว ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การทำธุรกิจก้าวไปสู่ Bio Economy ด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นความแข็งแกร่งของประเทศไทยควรนำเอาเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้ควบคุมสินค้าเกษตรตลอดแวร์ลู่เชน ถ้าหากสามารถนำมาใช้ได้จะเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรครั้งใหญ่ของประเทศไทยเลยทีเดียว

“ผมมาวันนี้ ตั้งใจมาให้กำลังใจบริษัทของคนไทยที่มีความตั้งใจยกระดับสินค้าเกษตร เป็นบริษัทที่คิดนอกกรอบ และได้นำความคิดนั้นมาทำให้เกิดเป็นจริง ผมอยากจะเห็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมาร่วมยกระดับนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาแบบนี้ไปพร้อมๆ กัน จะทำให้เกษตรกรก้าวไปสู่ความมั่นคั่งได้ ซึ่งเกิดจากการที่มีผู้ประกอบการมีการปฏิรูปภาคเกษตรกรทั้งระบบ เป็นการลดระดับการถูกเอาเปรียบ การเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย”

นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมจะรนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนไปติดตั้งที่โรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน เพื่อบันทึกและตรวจสอบข้อมูล CPO ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ

ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทแบ่งปันองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ในบริษัท มาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เติบโต เข้มแข็ง เกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว เป็นรากฐานสู่การพัฒนาชุมชนทุกมิติสู่ความยั่งยืนในที่สุด นำร่องด้วยโครงการ ผลิตสารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM (Phase Change Material) จากน้ำมันปาล์มครั้งแรกในโลก โดยนำนวัตกรรมบล็อคเชนมาพัฒนาเป็น platform เพื่อใช้บันทึกข้อมูล และตรวจสอบการซื้อขายปาล์มตลอดจนปันผลประโยชน์ตอบแทน ถือเป็นโครงการ CSI ต้นแบบ ของบริษัท ด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าของปาล์ม และทำให้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ สารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM (Phase Change Material) คือ วัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตามแต่สูตรการผลิต ด้วยการดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของเหลวเป็นของแข็งและจากของแข็งเป็นของเหลวได้จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบใช้ประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อาคารและการก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, การขนส่ง เป็นต้น PCM จากน้ำมันปาล์ม หรือจากแหล่งชีวภาพ (Bio Base) เป็นนวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

ขณะนี้ EA อยู่ในระหว่างการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก ปัจจุบัน ตลาด PCM โลก มีมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายในอีก 5 ปี สำหรับโรงงานผลิต PCM ของ EA ตั้งอยู่ที่ จ. ระยอง มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 130 ตัน/วัน เริ่มผลิตเฟสแรกในไตรมาสที่ 2 โดยส่งออกจำหน่ายไปประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร และที่อยู่อาศัย เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้ ให้ภายในสิ้นปีนี้ สัดส่วนรายได้ของ PCM จะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของรายได้รวมบริษัทฯ สำหรับสายการผลิต PCM เฟสสองจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 1,000 ตัน/วันภายในอีก 5 ปี

นอกจากนี้ EA ยังพลิกโฉมอุตสาหกรรมปาล์มไทย ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘ปาล์มยั่งยืน’ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ประกอบการทำธุรกรรมซื้อขายปาล์ม โดยการลงทะเบียนบันทึกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการซื้อขาย และคุณภาพของวัตถุดิบ เพื่อใช้ตรวจสอบที่มาและบันทึกการทำธุรกรรมซื้อขายอย่างถูกต้อง และที่สำคัญสามารถปันผลประโยชน์ส่วนเพิ่มกลับมายังผู้ขายวัตถุดิบในแต่ละขั้นตอนได้หากวัตถุดิบนั้นมีคุณภาพดีจนสามารถนำไปผลิตสาร PCM ที่มีคุณภาพสูงได้ เป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้การกำหนดราคาเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างโปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และมีระบบการจ่ายผลตอบแทนที่สามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้ นอกจากนี้ ด้วยระบบการบันทึกและตรวจสอบทุกขั้นตอนโดยใช้ Blockchain จึงเป็นการป้องกันการลักลอบนำปาล์มเถื่อนเข้ามาซื้อขายได้ อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย