26 April 2024


เกษตรกรอีสานยิ้ม! 1,393 โครงการสร้างรายได้เกษตรกรรายย่อยผ่านฉลุยรับเงินกว่า420 ล้านสร้างอาชีพยั่งยืน เน้นโปร่งใสตรวจสอบได้

Post on: Sep 9, 2018
เปิดอ่าน: 806 ครั้ง

 

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 7 จังหวัดนครราชสีมาเดินเครื่องเต็มสูบ โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกิจกรรมสร้างรายได้แก่เกษตรกรรายย่อย และโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ในพื้นที่ความรับผิดชอบ 8 จังหวัดอีสานล่าง เผยเกษตรกรรับโอนเงินแล้วกว่า 420 ล.ผ่าน 1,393 โครงการ สวนใหญ่เป็นผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงการประมง ชี้ตลาดไปได้ไกล สร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกรย้ำทุกโครงการโปร่งใส ตรวจสอบได้วันนี้ (10 ก.ย.) ดร.เสงี่ยม  กอนไธสง  ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 7 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกิจกรรมสร้างรายได้แก่เกษตรกรรายย่อย และโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ในพื้นที่ความรับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.ชัยภูมิ, นครราชสีมา, สุรินทร์, บุรีรัมย์ ,ศรีสะเกษ ,ยโสธร , อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี ว่าโครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย นั้น เป็นโครงการภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการเรียนรู้ จนสามารถดำเนินโครงการที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างยั่งยืน เป็นการวางรากฐานการพัฒนาการเกษตรในระยะยาวตามหลักการ ทฤษฎี และแนวทางการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานไว้ สามารถพัฒนาต่อยอด เชิงธุรกิจ เกิดแนวทางการพัฒนาในรูปแบบของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

สำหรับ พื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 7 จังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 8 จังหวัดอีสานตอนล่างนั้น มีเป้าหมายดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 1,650 ชุมชน มีเกษตรกรผ่านการฝึกอบรมจำนวน 328,377 ราย  1,393 โครงการ งบประมาณกว่า 420 ล้านบาท  ขณะนี้ได้มีการโอนเงินให้เกษตรกรไปดำเนินการแล้ว โดย แบ่งเป็น ด้านการผลิตพืช และพันธุ์พืช จำนวน 499โครงการ งบประมาณกว่า 61.5 ล้านบาท ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 465โครงการ งบประมาณกว่า 96 ล้านบาท ด้านการจัดการศัตรูพืช จำนวน 28โครงการ งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท ด้านฟาร์มชุมชน จำนวน 68 โครงการ งบประมาณกว่า 8.8 ล้านบาท ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จำนวน 843 โครงการ งบประมาณกว่า 89 ล้านบาท  ด้านปศุสัตว์ จำนวน 668 โครงการ งบประมาณกว่า  85.9 ล้านบาท ด้านประมง จำนวน 545โครงการ งบประมาณกว่า 69 บาท ด้านการผลิตแมลงเศรษฐกิจ จำนวน 27 โครงการ งบประมาณกว่า 1.9 ล้านบาท

ดร.เสงี่ยม กล่าวว่า  นายวิบูลย์  ไชยวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเกษตรฯ ได้เน้นย้ำ ไปยังคณะกรรมการฯ ทุกกลุ่มว่า หลังจากที่กลุ่มได้รับโอนเงินงบประมาณโครงการฯ เข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว ขอให้ดำเนินงานโครงการ โดยมีการติดตามตรวจสอบดูแลในพื้นที่และดำเนินกิจกรรมให้ถูกต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ ให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ด้วยกัน ให้ชุมชนมีความยั่งยืนต่อไป โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามให้คำแนะนำการทำงานในพื้นที่แก่ชุมชน ทุกชุมชนสามารถขอคำปรึกษาแนะนำการดำเนินงานในพื้นที่ได้ ที่สำคัญทุกโครงการต้องย้ำว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะต้องสร้างรายได้ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 2.5 เท่าของวงเงินงบประมาณที่ภาครัฐสนับสนุน ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริง โดยล่าสุดได้มีการทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและคณะกรรมการพัฒนาด้านการเกษตรระดับชุมชน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

ด้านนายนวนิตย์  พลเคน   เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า บุรีรัมย์มีทั้งสิ้น 236 ชุมชน ได้ทำเวทีประชาคมและทำกิจกรรมต่อยอดให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งหมด 582 โครงการรวบเป็นงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหม การแปรรูปปลา แปรรูปกล้วย การแปรรูปจากไผ่  ไร่นาสวนผสม และรองลงมาเป็นการทำปศุสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น กิจกรรมที่เราพยายามไปให้ความรู้แก่ประชาชนหรือให้เป็นทางเลือกประชาชน คือเป็นกิจกรรมที่สามารถต่อยอดจากิจกรรมเดิมที่ชุมชนดำเนินการอยู่แล้วหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการตลาดสามารถขายได้ ก็จะได้รับการส่งเสริมและขยายเพิ่มเติมเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้นโดยขณะนี้ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรเรียบร้อยแล้ว