26 April 2024


(ชมคลิป)ค้นหาคำตอบ “โคลนพุ” สิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างประโยชน์ให้จริงหรือ…

Post on: Feb 28, 2019
เปิดอ่าน: 699 ครั้ง

 

กรมทรัพยากรธรณีแถลงผลวิเคราะห์ “โคลนพุ” โคราช ยันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วนๆ พบหลายจังหวัด “ลาวาโคลน” ศักดิ์สิทธิ์ เผยผลตรวจน้ำ ดิน โคลนพบสารหนูก่อมะเร็งสูงเกินค่ามาตรฐานห้ามอุปโภคบริโภค และเป็นด่างสูงระคายเคืองผิวหนัง เพาะปลูกพืชได้

ช่วงบ่ายวันที่ 25 ก.พ.2562 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีในฐานะโฆษกกรม พร้อมด้วย นายสมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร นางอัปสร สะอาดสุด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรณี นายประดิษฐ์ นูเล นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 และนายพัฒนวิทย์ จิตต์พิทักษ์ ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 นครราชสีมา ได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏการณ์โคลนพุ ณ บ้านหนองกุงน้อย ต.โคกกระเบื้อง อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา
พร้อมร่วมกันแถลงผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน และโคลน ที่เก็บตัวอย่างมาทดสอบด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ภายในห้องปฏิบัติการกองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี โดยนายอำเภอบ้านเหลื่อม ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังการแถลง

นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า โคลนพุแห่งนี้เป็นเนินดินนูนสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร มีรูปทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-5 เมตร เมื่อหยั่งด้วยไม้ลงไปตรงกลางหลุมมีความลึกประมาณ 5-6 เมตร มักพบในแอ่งที่เกษตรกรใช้ในการทำนาปลูกข้าวหรือในทางน้ำและที่ราบน้ำท่วมถึงในภาคอีสาน ดินบริเวณโดยรอบจะมีความอ่อนนิ่มไม่สามารถรับน้ำหนักที่กดทับได้มาก

บริเวณจุดศูนย์กลางจะมีลักษณะคล้ายปล่องขนาดเล็กมีน้ำไหลผุดออกมาพร้อมกับดินเหนียวปนดินทราย เมื่อแห้งโคลนดังกล่าวจะแตกเป็นระแหง นอกจากนี้แล้วบางหลุมที่แห้งไปนานแล้วจะพบคราบเกลือสีขาวเกาะบนผิวดิน มีรสขม น้ำที่ไหลออกมาจากปากหลุมจะมีค่าความเป็นด่างค่อนข้างสูง
สาเหตุการเกิด เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่เรียกว่า “โคลนพุ” โดยมีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ 1. มีแรงดันของน้ำใต้ดินสูง

2. มีรอยแตกและรอยแยกที่ยอมให้น้ำที่มีแรงดันดังกล่าวไหลขึ้นสู่ผิวดินได้ และ 3. สภาพธรณีวิทยาด้านล่างมีกลุ่มดินหรือแร่ที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วเกิดการพองตัวมีสภาพนิ่มและเหลว ไหลขึ้นมาพร้อมกับน้ำ

ส่วนผลกระทบของโคลนพุต่อประชาชน แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1. ผลกระทบที่เกิดจากสภาพของดินที่ใช้ในการเพาะปลูก เนื่องจากดินและน้ำที่เกิดจากโคลนพุมีสภาพความเป็นด่างสูง ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้

2. ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสัตว์เลี้ยงที่อาจตกลงไปในหลุมโคลน เนื่องจากพื้นดินด้านล่างมีความอ่อนนิ่ม หากคนหรือสัตว์เลี้ยงพลัดตกลงไปอาจจะเกิดอันตรายได้

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า แนวทางการลดผลกระทบเบื้องต้นควรทำแนวกั้นไม่ให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงเข้าไปใกล้บริเวณที่โคลนพุขึ้นมาเนื่องจากอาจพลัดตกลงได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยและสาเหตุของการเกิดโดยละเอียดเพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การลดระดับแรงดันของน้ำร่วมกับการปรับปรุงสภาพดินให้สามารถกลับมาปลูกพืชได้ หรืออาจวางแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ต่อการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาโคลนพุตามธรรมชาติ หรือเพื่อการวิจัยศึกษาการใช้ประโยชน์จากโคลนพุให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดในประเทศไทย จากการศึกษาและสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์โคลนพุในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. จังหวัดหนองบัวลำภู 2. จังหวัดขอนแก่น 3. จังหวัดเลย 4. จังหวัดชัยภูมิ 5. จังหวัดนครราชสีมา 6. จังหวัดลพบุรี และ 7. จังหวัดสระแก้ว

ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรมทรัพยากรธรณีมีคำแนะนำ ดังนี้ ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ พบค่าสารหนูเกินค่ามาตรฐาน (0.01 mg/l) เล็กน้อย ไม่ควรนำน้ำมาอุปโภค บริโภค หากร่างกายได้รับสารหนูในปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนปาก ลำคอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง แน่นหน้าอก ผื่นคัน ผมร่วง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชาปลายมือปลายเท้า และก่อให้เกิดมะเร็งได้ในที่สุด

ผลการตรวจสอบโคลนพุ พบไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพดิน แต่มีค่าความเป็นด่างสูง (pH 9.20) หากสัมผัสผิวหนังอาจเกิดการระคายเคือง มีผื่นคันได้

อย่างไรก็ตาม ทางกรมธรณีวิทยา ได้แนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับพื้นที่ดังกล่าว หากต้องการเปิดให้ปะระชาชนได้มาชมก็ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากอาจจะเกิดอุบัติเหตุในขณะเข้าชมได้ เช่น  อาจมีคนตกลงไปในบ่อโคลนได้ แต่หากต้องการให้ทางราชการเข้ามาช่วยเหลือก็สามารถร้องขอได้