27 April 2024


เอไอเอสยกทัพสื่อฯชมการทำงานของ รพ.สต.บ้านนาเมืองใช้เทคโนโลยีดิจิทัล“อสม.ออนไลน์”

Post on: Aug 17, 2016
เปิดอ่าน: 783 ครั้ง

เอไอเอส นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทำงานของ รพ.สต.บ้านนาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล แอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” หวังเป็นเครื่องมือยุคดิจิทัลช่วยงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก ในการบริหารจัดการและดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และทันสถานการณ์ พร้อมเปิดกว้างการใช้งานทุกเครือข่าย

เอไอเอสนำสือดูงาน อสม ออนไลน์-web1

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด  (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของเอไอเอสอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม คือ สังคมและชุมชน ลูกค้า คู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ พนักงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทุกส่วนสู่ความยั่นยืน และการสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายเครือข่ายของเอไอเอสในพื้นที่ต่างๆ นอกจากการทำให้ลูกค้าและประชาชนสามารถเข้าถึงการสื่อสารได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพที่ดีแล้ว บริษัทฯยังให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่ต่างๆที่เอไอเอสเข้าไปติดตั้งสถานีฐาน เราก็จะนำสิ่งดีๆที่สร้างคุณค่าร่วมกันให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย

สิ่งสำคัญหนึ่งที่เราพบในการทำงานร่วมกับชุมชนคือ งานสาธารณสุขชุมชนมีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตของคนในชุมชน และมีความเสี่ยงต่อชีวิต หากแต่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ ถ้าสามารถเข้าถึงการสื่อสารและข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ    โดยปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)เป็นหลักในการทำหน้าที่นี้   โดยมุ่งเน้นให้ความรู้เชิงป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาตามแนวทาง“สร้างนำซ่อม” นั้น  มีความสำคัญมากและจะเป็นรากฐานของการสร้างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งส่งผลต่อความเจริญและความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ

เอไอเอสจึงเห็นว่าเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัลที่เรามีอยู่จะสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขชุมชนได้   ทีมงานเอไอเอสจึงได้ลงพื้นที่ศึกษาการทำงานและความต้องการที่แท้จริงจากกลุ่มรพ.สต. และอสม.โดยได้พัฒนาออกมาเป็นแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ที่ต้องสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นเมนูภาษาไทย เหมาะกับผู้ใช้งานและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนอย่างแท้จริง

โดยแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้มีการเริ่มใช้งานครั้งแรกที่ รพ.สต.หลักร้อย อ.เมือง                 จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน ก.ย.58 โดยได้มีการขยายการใช้งานไปในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันแอปพลิเคชันดังกล่าวมีการเปิดใช้งานกับรพ.สต.ต่างๆทั่วประเทศแล้วประมาณ 60 แห่ง

เอไอเอสนำสือดูงาน อสม ออนไลน์-web3

สำหรับ รพ.สต.บ้านนาเมือง แห่งนี้ก็ได้มีการเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตามในระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมา  ทีมงานเอไอเอสได้พัฒนาอสม.ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายการใช้งานให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขชุมชนในระดับอื่นๆด้วย คือสาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอให้สามารถใช้งาน อสม.ออนไลน์นี้ได้ด้วย

“เอไอเอส มีความมุ่งหวังจะให้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์  เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง  ดังนั้นเราจึงไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้และไม่เสียค่าใช้จ่าย  แต่เราเปิดกว้างให้ทุกคนที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนไม่ว่าจะใช้งานด้วยเครือข่ายใดก็ตาม ก็สามารถใช้งานอสม.ออนไลน์นี้ได้ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับเจ้าของเครือข่ายนั้นๆ  เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดในการใช้ อสม.ออนไลน์เพื่อปฏิบัติงานของตนเอง โดยเอไอเอสหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานของ รพ.สต. และ อสม. รวมถึง สสจ. และ สสอ. ผ่าน อสม.ออนไลน์ จะช่วยส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชนในเชิงรุก และการบริหารจัดการข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน”

นายอุดมศักดิ์  โสมคำ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด และมีจำนวนประชากรมากนับเป็น 1 ใน 3 ของประเทศไทย  การเข้าถึงการสื่อสารโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐานรวมถึงการสาธารณสุข จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผมมั่นใจว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยให้การดำเนินชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ในด้านต่างๆของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสะดวก มีประสิทธิภาพอย่างมีคุณภาพและสร้างคุณค่าให้กับคนในภาคได้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชน และมุ่งหวังให้คนในทุกชุมชนมีสุขภาพที่ดีนั้น  สิ่งสำคัญที่จะให้ รพ.สต.และ อสม.ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพนั้น เครือข่ายที่ดี ครอบคลุม และมีคุณภาพ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะที่ นายวิบูลย์  ทนงยิ่ง ผอ.รพ.สต.บ้านนาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ด้วยภารกิจของ รพ.สต.บ้านนาเมืองที่ต้องดูแลสุขภาพของคนในชุมชน จำนวน 16หมู่บ้าน ประชากรราว 8,000 คน  ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่มีกว่า 237 คนในการลงพื้นที่ดูแลสุขภาพของประชากรทั้งหมด เนื่องจากอำเภอเสลภูมิเป็นพื้นที่กว้างขวางโดยระยะทางจากรพ.สต.บ้านนาเมือง ไปยังหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลที่สุดมีระยะทางถึง 12 กิโลเมตร ส่งผลให้การทำงานระหว่างรพ.สต.และอสม.ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการสนทนาผ่านทางเสียง และการส่งข้อมูลตามช่องทางเท่าที่มีอยู่

เอไอเอสนำสือดูงาน อสม ออนไลน์-web2

ในขณะนั้นทางรพ.สต.บ้านนาเมืองกำลังมองหาเครื่องมือส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขชุมชนในการติดต่อสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลข่าวสาร ประกาศ หรือแจ้งสถานการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดจากกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรวดเร็ว แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์อย่างทันท่วงที  และพอเมื่อได้รับทราบว่ามี           แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ที่เอไอเอสพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การทำงานระหว่างรพ.สต. กับอสม.โดยเฉพาะ ทางรพ.สต.บ้านนาเมืองจึงติดต่อเข้ามายังเอไอเอสเพื่อให้ทีมงานเอไอเอสลงไปสอนการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว

“ภายหลังจากการนำ อสม.ออนไลน์ มาใช้งานแล้ว ถึงแม้จะยังมี อสม.เพียงจำนวนหนึ่งที่ใช้งานแต่ก็ทำให้เห็นถึงการสื่อสารที่รวดเร็ว เข้าถึงข้อมูล และสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้แก่อสม.และประชาชนที่ต้องดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยสิ่งที่นำมาใช้งานมากที่สุดจาก  อสม.ออนไลน์คือการส่งข้อมูลข่าวที่เกี่ยวกับงานสาธารณสุข การแจ้งประกาศโรคระบาด  และการนัดประชุมอสม.ในแต่ละครั้ง”

นายไพบูลย์  มานะที รองประธานอสม.รพ.สต.บ้านนาเมือง กล่าวว่า ตนมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบคนในชุมชนหมู่ที่ 5 ของต.บ้านนาเมือง ภายหลังจากที่รพ.สต.บ้านนาเมืองนำแอปพลิเคชัน     อสม.ออนไลน์  มาใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารงานสาธารณสุขชุมชนสิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำงานคือ อสม.ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร ประกาศต่างๆที่เกี่ยวกับงานสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น  ที่สำคัญข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพราะได้รับมาจากรพ.สต.และเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เฉพาะเรื่องการทำงาน

“นอกจากตนจะเป็นอสม.แล้วอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวภายในหมู่บ้านเพื่อให้คนทั้งหมู่บ้านได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร   ตนจึงนำข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขที่ได้รับจากรพ.สต.ในฐานะที่เป็น อสม.มาแจ้งประกาศที่หอกระจายข่าวเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงไม่เฉพาะแค่บางครัวเรือนที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็น อสม.เท่านั้น ทำให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขเพื่อนำไปป้องกันได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้และรวดเร็วโดยตรงจากรพ.สต.”