28 April 2024


ข่าวใหญ่! ค้นพบมหาสมุทรแห่งใหม่ในระบบสุริยะ “นาซา” เดินหน้าค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

Post on: Apr 21, 2017
เปิดอ่าน: 696 ครั้ง

 

นาซาแถลงข่าวใหญ่พบหลักฐานล่าสุดมีมหาสมุทรบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ พบหลักฐานชี้ชัด น้ำ แหล่งพลังงาน และสารเคมี คาดมีโอกาสเจอสิ่งมีชีวิตนอกโลก มุ่งเป้าเดินหน้าโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป

นาซ่า6

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 เวลา 1:00 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐอเมริกา หรือนาซา แถลงข่าวการค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมหาสมุทรสองแห่งในระบบสุริยะ เป็นข้อมูลการค้นพบจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และยานสำรวจอวกาศแคสสินี ดังนี้

1.ทีมงานกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นพบหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีมีพวยของเหลว (ซึ่งมีโอกาสเป็นน้ำ) พุ่งขึ้นมา พวกเขาค้นพบของเหลวพุ่งสูงประมาณ 100 กิโลเมตรจากผิวของดวงจันทร์ยูโรปา การค้นพบครั้งนี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยค้นพบเมื่อ 2 ปีก่อน และอยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่ยานอวกาศกาลิเลโอสังเกตเห็นรอยแตกบนผิวดวงจันทร์ยูโรปาเมื่อสิบปีมาแล้ว วิธีสังเกตการณ์น้ำพุ นักวิทยาศาสตร์รอให้ดวงจันทร์ยูโรปาเคลื่อนผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี แล้วแสงจากดาวพฤหัสบดีที่สะท้อนจากแสงอาทิตย์ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเล็ต ทำให้เห็นพวยของเหลว พุ่งออกมาจากขอบดวงจันทร์ยูโรปาได้อย่างชัดเจน ในอนาคตนาซากำลังวางแผนดำเนินโครงการยูโรปาคลิปเปอร์ ที่จะส่งยานอวกาศไปศึกษาดวงจันทร์ยูโรปาอย่างละเอียด

นาซ่า2

ภาพเปรียบเทียบตำแหน่งของเหลวที่พุ่งสูงจากพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปาเมื่อปี 2014-2016 (ภาพ : NASA)

2. ในเดือนตุลาคม 2015 ทีมงานยานสำรวจอวกาศแคสสินี ได้บังคับยานให้โคจรผ่านพวยน้ำที่พุ่งออกมาจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ และค้นพบแก๊สไฮโดรเจนมากมายในพวยน้ำที่พุ่งออกมานี้ คาดว่าแก๊สไฮโดรเจนเหล่านี้อาจเกิดจากกระบวนการทางเคมีระหว่างหินและน้ำในมหาสมุทรของดวงจันทร์ดวงนี้ ทำให้เกิดแก๊สไฮโดรเจน คล้ายกับกระบวนการที่เกิดใต้มหาสมุทรบนโลก แก๊สไฮโดรเจนนี้ อาจเป็นแหล่งพลังงานของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากสิ่งมีชีวิตประเภทแบคทีเรียสามารถใช้แก๊สไฮโดรเจนร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในน้ำในการสร้างพลังงาน กระบวนดังกล่าวเรียกว่า การสังเคราะห์มีเทน ซึ่งจุลินทรีย์หลายชนิดบนโลกของเราใช้อยู่ อย่างไรก็ตามยานสำรวจอวกาศแคสสินียังไม่มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะตรวจวิเคราะห์สิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสได้ จำเป็นที่จะต้องมีโครงการส่งยานคล้ายกับโครงการยูโรปาคลิปเปอร์ไปสำรวจดวงจันทร์เอนเซลาดัสในอนาคต

นาซ่า1

ชีวิตจะถือกำเนิดขึ้นได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลัก ๆ สามอย่าง ได้แก่ ตัวทำละลาย (น้ำ)  แหล่งพลังงาน และสารเคมีที่เหมาะสม งานวิจัยนี้บ่งชี้ว่าที่ดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์มีองค์ประกอบครบทั้งสามอย่าง และของเหลวที่พุ่งออกมานั้น 98% เป็นน้ำ อีก 1% เป็นแก๊สไฮโดรเจน ที่เหลือเป็นโมเลกุลอื่น ๆ จำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนและแอมโมเนีย ในอนาคตการค้นพบหรือแม้กระทั่งการไม่พบสิ่งชีวิตบนดวงจันทร์ดวงนี้ จะมีความน่าสนใจพอกัน

นาซ่า4        ภาพจำลององค์ประกอบของดวงจันทร์เอนเซลาดัส (ภาพ : NASA)

ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ยืนยันว่าโลก อาจจะไม่ใช่ที่เดียวในระบบสุริยะที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ การค้นพบร่องรอยของน้ำบนดาวเคราะห์หรือมหาสมุทรบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จะกระตุ้นให้เกิดการศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลกมากขึ้นนาซ่า5

ภาพจำลองโครงการยูโรปาคลิปเปอร์ (ภาพ : NASA)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดวงจันทร์ยูโรปา และดวงจันทร์เอนเซลาดัส

นาซ่า3

ภาพเปรียบเทียบพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปา (ซ้าย) และดวงจันทร์เอนเซลาดัส (ขวา)  (ภาพ : NASA)

ดวงจันทร์ยูโรปา เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย พื้นผิวเป็นน้ำแข็งที่มีความเรียบมาก ความเรียบในระดับนี้บ่งชี้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยาทำให้ร่องรอยอุกกาบาตต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นเลือนหายไป (ในขณะที่ดวงจันทร์ของโลกเราไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยาใด ๆ ทำให้รอยอุกกาบาตที่เกิดขึ้นไม่เลือนหายไป) นอกจากนี้หลักฐานจำนวนมาก เช่น ลักษณะของเปลือกที่เป็นน้ำแข็ง น้ำพุที่พุ่งออกมาจากผิวที่ความสูงกว่า 100 กิโลเมตรจากพื้นผิว ทำให้นักดาราศาสตร์มั่นใจว่าภายใต้เปลือกน้ำแข็งประมาณ 170 กิโลเมตร มีชั้นของมหาสมุทรอยู่ ดวงจันทร์ยูโรปาถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1610 โดยสุดยอดนักดาราศาสตร์โลกชาวอิตาลี กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

ดวงจันทร์เอนเซลาดัส เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ พื้นผิวเป็นน้ำแข็งค่อนข้างเรียบและสะท้อนแสงได้ดีเยี่ยม ทำให้พื้นผิวของมันเย็นจัดถึง −198 องศาเซลเซียส เนื่องจากพลังงานถูกสะท้อนออกไป ดวงจันทร์เอนเซลาดัสถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษคนเดียวกับที่ค้นพบดาวยูเรนัส แต่ในขณะนั้นกล้องโทรทรรศน์ไม่สามารถเก็บรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับดวงจันทร์ดวงนี้ได้มากนัก ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 ยานสำรวจอวกาศแคสสินี ได้โคจรเข้าไปใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้แล้วทำการเก็บภาพพื้นผิวของมันอย่างละเอียด จนค้นพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ “น้ำพุ และน้ำแข็ง” ที่พุ่งออกมาจากผิวบริเวณขั้วใต้ น้ำพุนั้นมีสารประเภทเกลือละลายอยู่ ยานสำรวจอวกาศแคสสินีได้โคจรเข้าใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้อีกหลายครั้งเพื่อศึกษาโครงสร้างภายในของมัน ข้อมูลต่าง ๆ บ่งชี้ว่ามันมีมหาสมุทรอยู่ภายใต้เปลือกน้ำแข็ง