27 April 2024


ทุกข์หนัก! ชาวบ้านระทมร้อง มหา’ลัยชื่อดังโคราชฮุบที่ทำกินหลายชั่วอายุคน(ชมคลิป)

Post on: Mar 8, 2016
เปิดอ่าน: 17,915 ครั้ง

ชาวบ้านโคราชเดือดร้อนหนัก ร้องมหาวิทยาลัยฯ ชื่อดังฮุบที่  เผยทำกินมาหลายชั่วอายุคน เคยตกลงทำแนวเขตแล้วแต่ไม่รักษาคำพูดยังย้อนกลับมาเอาที่ชาวบ้านอีก ล่าสุดส่งทหารมาสู้กับชาวบ้าน นำแบ็คโฮเข้ามาขุดคันดินเพื่อทำรั้วแต่ชาวบ้านไม่ยอมปักหลักสู้  ย้ำไม่ยอมแน่ขอสู้ถึงที่สุดเตรียมรวมตัวบุกพบนายก “ประยุทธ์” ขอความเป็นธรรม

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web1วันนี้ (8 มี.ค.) ตัวแทนชาวบ้านหนองบง หมู่ 5 ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ติดฝั่งประตู 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กว่า 20 คน นำโดยนายจำนงค์ นิตย์ใหม่ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองบง หมู่ 5 ต.สุรนารี ได้รวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากถูกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ขยายรั้วฮุบที่ดินทำกินของชาวบ้าน เนื้อที่กว่า 887 ไร่ โดยอ้างว่าจะนำไปทำแปลงเกษตรให้นักศึกษา ทั้งที่มีข้อตกลงในการแบ่งแนวเขตที่ชัดเจนแล้ว

นายจำนงค์ นิตย์ใหม่ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 แกนนำชาวบ้าน เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อพิพาทกันมานานร่วม 22 ปี สืบเนื่องจากเมื่อปี 2532 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ทบวงมหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง เนื้อที่ 6,911 ไร่ 3 งาน 64 ตร.ว. ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ไชยมงคล และ ต.บ้านใหม่ (ต.สุรนารี ในปัจจุบัน) เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web2

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web3

แต่การประกาศเขตป่าสงวนฯ ดังกล่าวยังมีปัญหาต่อสู้กันอยู่ เนื่องจากเป็นการประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ถือครอง ทำกินมาก่อนที่กรมป่าไม้จะประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ที่ทางราชการออกให้ในพื้นที่ 887 ไร่ รวม 147 ราย เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส.3 ก., ส.ค.1, ภบท.8, ภบท.9, ภบท.11, ภบท.6 และ ภบท. 5

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความเป็นธรรม ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาได้มีการหารือเพื่อหาทางออกเรื่องนี้มาโดยตลอด กระทั่งปี 2546 มีคำสั่งของจังหวัดนครราชสีมา แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและตรวจสอบข้อมูลปัญหาที่ดินของมหาวิทยาลัยฯ โดยมีคณะทำงาน 14 คน มีตัวแทนชาวบ้าน 3 คน ได้ประชุมพิจารณาเพื่อหาข้อยุติหลายครั้ง

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web5

มติที่ประชุมเมื่อ 2 เม.ย. 2548 เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ว่า ขอให้ มทส.ส่งคืนที่ดินบริเวณพิพาทเนื้อที่ 1,086 ไร่ 240 ตร.ว. ให้กรมป่าไม้และขอให้กรมป่าไม้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินพิจารณาจัดสรรให้กับราษฎรให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ซึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น (นายพงศ์โพยม วาศภูติ) ได้พิจารณาและลงนามเห็นชอบ
ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web6
ต่อมาปี 2550 กลุ่มชาวบ้านได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่นิติกรของ มทส. เจ้าหน้าที่ปาไม้เขตนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการปักแนวเขตที่ดินและเว้นถนนขนาดความกว้าง 10 เมตร ระหว่างแนวรั้วมหาวิทยาลัยฯ กับที่ดินที่ชาวบ้านที่ครอบครอง ตั้งแต่จุดริมแนวรั้วประปาประตู4 ถึงแนวรั้วฟาร์มเกษตรสาธิต ฟาร์มวัว จนถึงลำห้วย ระยะทางยาวกว่า 2.50 กิโลเมตร (กม.) โดยมีการปักหลักเขตที่ดินไว้ชัดเจน จากนั้นชาวบ้านได้ทำกินในพื้นที่ของตนเองมาโดยตลอด เพื่อรอหน่วยงานรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามมติดังกล่าว

จากนั้นทาง มทส.ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญ คือ หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้มีการแก้ไขประกาศกรมป่าไม้ฉบับที่ 32/2532 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2532 และ เงื่อนไขแนบท้ายประกาศกรมป่าไม้ ให้ มทส.ใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง เพื่อเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยฯ เนื้อที่ 6,024 ไร่ 2 งาน 9 ตารางวา (ตร.ว.) จากเดิมขอใช้พื้นที่ 6,911 ไร่ 3 งาน 64 ตร.ว.

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web4

นายจำนงค์กล่าวอีกว่า ปัญหากลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี 2557 ทาง มทส.ได้นำเรื่องเดิมเสนอให้ทางจังหวัดพิจารณา โดยหวังฮุบที่ดินชาวบ้านไปทั้งหมด ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้เดิม และทางจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยฯที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง โดยมีการแต่งตั้งผู้แทนของกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) เป็นที่ปรึกษา
ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web7
ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web8ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2557 กำลังทหารจาก ทภ.2 ได้เข้ามาตรวจสอบที่ดินโดยนำรถแบ็กโฮมาขุดทำคันดินเพื่อจัดทำแนวเขตล้อมรั้วลวดหนาม แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านไว้หวิดมีการปะทะกันโดยชาวบ้านได้ปักหลักกางเต็นท์ไม่ให้ทหารเข้ามาดำเนินการได้ และ จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า รถแบ็กโฮที่หน่วยทหารนำเข้ามาขุดคันดินนั้น ได้เหยียบและทำลายทรัพย์สินพืชผัก สวนครัวของชาวบ้านเสียหาย และยังพบร่องรอยการทำลายหลักแนวเขตที่ปักไว้เมื่อปี 2550 ด้วย

ขณะชาวบ้านเองได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา และยื่นหนังสือร้องทุกข์ไปที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงขณะนี้เรื่องยังเงียบหาย ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังคงเดินหน้าที่จะฮุบที่ดินทำกินของชาวบ้านต่อไป โดยได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 กับชาวบ้าน

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาปักป้ายในพื้นที่พิพาท โดยมีสาระสำคัญระบุว่าให้ประชาชนผู้ครอบครองแนวเขตมหาวิทยาลัยฯ ได้รับทราบแนวเขตที่กรมป่าไม้ ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่แห่งนี้ โดยให้ผู้ครอบครองพื้นที่นำหลักฐานการที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองหรือเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวไปแสดงที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web9

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web10

“การต่อสู้ที่ยาวนานยืดเยื้อมากว่า 20 ปี กระทั่งวันนี้ชาวบ้านทุกคนยังต้องอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่เป็นอันทำมาหากิน โดยเฉพาะคนแก่รู้สึกกังวลใจว่า ที่ดินที่ทำกินมาหลายชั่วอายุคน จะไม่มีไว้ให้ลูกหลานได้ทำกินต่อไป และรู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยวใจ แม้ที่ดินเพียงแค่ไม่กี่ไร่แต่กลับถูกหน่วยงานรัฐรังแกฮุบเอาไป ทั้งที่มหาลัยเองมีที่มากถึงกว่า 6,000 ไร่ อยู่แล้ว” นายจำนงค์กล่าว

ฉะนั้นจึงอยากวิงวอนร้องขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ชาวบ้านได้อาศัยทำกินในพื้นที่ของตนเองต่อไปด้วย และจะรวมตัวกันเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมและมาช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังทุกข์ระทมอย่างหนักอยู่ในขณะนี้

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web11

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web12

ร้อง มทส ฮุบที่ดินชาวบ้าน-web13