5 May 2024


ผู้ว่าฯโคราชห่วงน้ำเขื่อนน้อย ขอปชช.ประหยัดงดปลูกพืชหน้าแล้งยันน้ำมีพอใช้

Post on: Oct 9, 2015
เปิดอ่าน: 769 ครั้ง

“วิเชียร” ผู้ว่าฯโคราชคนใหม่ ห่วงน้ำเขื่อนทั้งจังหวัดมีปริมาณน้อยแค่ 30-40 %ของความจุทั้งหมด  ขอความร่วมมือ ปชช.ประหยัด และเกษตรกรงดปลูกพืชหน้าแล้ง แต่มั่นใจบริหารจัดการน้ำเพียงพอผลิตประปาเพื่ออุปโภคบริโภคถึงเดือดนพ.ค.ปีหน้า ผู้ว่าฯโคราชห่วงน้ำเขื่อนน้อย

วันนี้ ( 9 ต.ค.58)  นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มวิกฤตปัญหาภัยแล้ง ปี 2558/2559 แนวทางในการแก้ไขปัญหา ของ จ.นครราชสีมา  ว่า รัฐบาลได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนให้ร่วมกันประหยัดน้ำเนื่องจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศมีปริมาณที่น้อย ประชาชนจำเป็นต้องมีการจัดการบริหารน้ำให้ดีเพื่อมีน้ำไว้ใช้ไปตลอดฤดูแล้งนี้ โดยเฉพาะการปลูกพืชฤดูแล้งประชาชนควรงดการปลูกและหันหาอาชีพอื่นมาสริมแทนซึ่งรัฐบาลไดกำหนด มาตรการ 8 มาตรการในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งนี้ได้

สำหรับ จ.นครราชสีมา ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนในการร่วมกันประหยัดน้ำ เนื่องจากน้ำต้นทุน ในแต่ละเขื่อนขณะนี้ มีปริมาณน้อย เพียง 30-40 %ของความจุเขื่อนเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องเก็บน้ำที่มีไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ส่วนเรื่องในการทำการเกษตรนั้นอาจต้องละเว้น อย่างไรก็ตามทางจังหวัดจะได้มีการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนแทนการทำการเกษตร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้สำหรับเกษตรกรคือ นาข้าวที่กำลังออกรวงและจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งฝนเริ่มทิ้งช่วง นาข้าวอาจได้รับความเสียหายได้ ทางจังหวัดได้หารือ ในการบริหารจัดการน้ำเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ ดังนั้นเกษตรกรควรเร่งกักเก็บน้ำและเร่งสูบน้ำเข้านาเพื่อให้นาข้าวไม่ได้รับความเสียหาย

ในส่วนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในเขตพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา นั้น ขณะนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำเหลือปริมาณ 100 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)  ซึ่งการดึงน้ำมาใช้ในการทำน้ำประปา ตั้งแต่ เขตพื้นที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.เมืองนครราชสีมา  จะต้องใช้น้ำในการผลิตน้ำประปารวมกันประมาณวันละ 2 แสน ลบ.ม. หรือ เดือนละ 6 ล้าน ลบ.ม. นั้น โดยจากการคาดการณ์น้ำที่มีอยู่จะสามารถใช้ ได้เป็นเวลา 7 เดือน จนถึงเดือน พ.ค. 2559 อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการทำการเกษตรนั้นต้องมีการหารือและช่วยเหลืออีกครั้ง