30 April 2024


“มูจีแก” ไม่ช่วยอะไร น้ำเขื่อนโคราชยังน่าห่วงเตรียมรับแล้งหนักปีหน้า

Post on: Oct 5, 2015
เปิดอ่าน: 1,126 ครั้ง

ชลประทานโคราชเผยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งของโคราชยังน่าห่วง อิทธิพล “มูจีแก” ไม่ทำฝนตกในโคราช   จี้ฝนหลวงเร่งโปรยสารเคมีทำฝนตก ชี้หากน้ำไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุปีหน้าเผาจริงแน่

เนื้อเขื่อนยังน่าห่วง-web 1

วันนี้ (5 ต.ค. ) นายภานรินทร์  ภาณุพินทุ  นายช่างชลประทานอาวุโส   ป ฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ และ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการ   ว่า ล่าสุดมีปริมาณมีปริมาณน้ำรวม 488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41.55 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 1,174 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่มีปริมาณน้ำ 560.57 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.72 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 1,147 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ มีปริมาณน้ำอยู่ 380.48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40.13 ของความจุระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลือ 107.51 ล้าน ลบม. (น้ำใช้การได้ 93.85ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม.  เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ77.71 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 70.88 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 48.39 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 34.32 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 92.39 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 33.60 ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสางมีปริมาณน้ำ 45.42 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 46.35 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการ มีปริมาณน้ำ 107.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.46 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.

เนื้อเขื่อนยังน่าห่วง-web 2

อย่างไรก็ตามอิทธิพลของพายุ “มูจีแก” ยังไม่ส่งผลให้เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามากนัก และสภาพอากาศโดยทั่วไปวันนี้ที่ จ.นครราชสีมาท้องฟ้าค่อนข้างโปร่ง    ซึ่งขณะนี้คงต้องอาศัยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเร่งทำฝนเพื่อให้มีน้ำเติมอ่าง หากปริมาณน้ำรวมทุกอ่างไม่ถึงร้อยละ 50 ภายในเดือน ต.ค.นี้ซึ่งคาดการณ์ว่าฝนจะหมดเร็วกว่าทุกปีหรือไม่เกินวันที่ 15 ต.ค.นี้  จังหวัดนครราชสีมาจะเจอภาวะวิกฤติแล้งอย่างรุนแรงในปี 2559