30 April 2024


ฮือฮา!โคราชค้นพบซากปลาโบราณสายพันธุ์ใหม่ของโลก

Post on: May 5, 2017
เปิดอ่าน: 1,300 ครั้ง

 

ฮือฮานักวิจัยค้นพบฟอสซิลปลายุคจูแรสซิกพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 150 ล้านปีก่อน ผู้เชี่ยวชาญระบุปลากระดูกแข็งโบราณสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า โคราชอิกธิส จิบบัส
DSC_2615
วันนี้ (5 พ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  พร้อมด้วยนายสุเมธ  อำภรณ์  ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา , รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา , ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบ ฟอสซิลปลายุคจูแรสซิกพันธุ์ใหม่ของโลก โคราชอิกธิส จิบบัส โดยได้ค้นพบฟอสซิลจากแหล่งบ้านโนนสาวเอ้ ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นปลาน้ำจืดสกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก อยู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น หรืออายุประมาณ 150 ล้านปีก่อน ปลาชนิดนี้มีลักษณะเด่น คือ บริเวณหลังส่วนคอมีลักษณะเป็นโหนกชัดเจน
ทั้งนี้ที่มาของฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลกพบอยู่ในก้อนหินที่แตกออกเป็น 2 ซีก จากการขุดแหล่งน้ำใกล้น้ำตกถ้ำขุนโจร พื้นที่ของหมู่บ้านโนนสาวเอ้ ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว ค้นพบเมื่อประมาณปี 2540 โดยชาวบ้าน คือ นายวิโรจน์ ปิ่นปก ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ จนกระทั่งต่อมาในปี 2557 นักวิจัยชาวไทย และผู้เชี่ยวชาญฟอสซิลปลาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ดำเนินการวิจัย จนถึงปัจจุบันจึงค้นพบว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก
DSC_2634
สำหรับฟอสซิลปลาที่ค้นพบชนิดนี้ เป็นปลากระดูกแข็งโบราณสกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก ถูกตั้งชื่อว่า โคราชอิกธิส จิบบัส (Khoratichthys gibbus โดย khorat=โคราช, ichthys=ปลากระดูกแข็ง, gibbus=โหนก) ซึ่งมีลักษณะขนาดรูปร่างยาว 36 เซนติเมตร กว้าง 12 เซนติเมตร และหนา 8 เซนติเมตร บริเวณคอแสดงลักษณะเป็นโหนกชัดเจน จนเป็นที่มาของชื่อ จิบบัส ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดรูปสี่เหลี่ยม และมีเกล็ดตรงสันกลางหลังที่ยาวแหลมคล้ายหนาม มีกระดูกปิดส่วนแก้ม กระดูกที่ล้อมรอบเบ้าตามีน้อยชิ้น และกระดูกปิดเหงือกมีรูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม
DSC_2598
ศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ฯ กล่าวถึงที่มาของฟอสซิลปลาว่า พบในก้อนหินที่แตกออกเป็น 2 ซีกจากการขุดแหล่งน้ำใกล้น้ำตกถ้ำขุนโจรในเขตคุ้มบ้านท่าเรือของหมู่บ้านโนนสาวเอ้ ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และชาวบ้าน นำโดย นายวิโรจน์ ปิ่นปก ได้นำก้อนหิน 2ก้อนดังกล่าวไปวางไว้ที่ศาลเจ้าพ่อน้ำตกถ้ำขุนโจรใกล้น้ำตกก่อนแจ้งให้หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ขณะนั้น คณาจารย์ในภาควิชา จึงเดินทางไปตรวจสอบ และพบกับนายวิโรจน์ ปิ่นปก เมื่อวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ. 2540 จึงได้ยินการบอกเล่าถึงที่มาดังกล่าวแล้วข้างต้นและได้อนุเคราะห์มอบซากปลาให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมานำไปอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการสืบไป แต่ด้วยความขาดแคลนนักวิจัยฟอสซิลปลา เวลาจึงล่วงเลยมาถึง 17ปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2557จึงได้เริ่มมีการศึกษา โดย ดร.อุทุมพร ดีศรี ,ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล และดร.ลิโอเนล คาวิน ผู้เชี่ยวชาญฟอสซิลปลาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารชั้นนำของโลกด้านบรรพชีวินวิทยา คือ Journal of Vertebrate Paleontology เมื่อปลายปี2559
 ปลาโคราชอิกอิส
ดร.อุทุมพร ดีศรี เปิดเผยว่า ปลาชนิดนี้เป็นปลากระดูกแข็งโบราณสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า โคราชอิกธิส จิบบัส (Khoratichthys gibbus;โดย khorat=โคราช, ichthys=ปลากระดูกแข็ง, gibbus=โหนก) ซึ่งมีลักษณะดังนี้ ขนาดรูปร่างยาว 36 ซม. กว้าง 12 ซม. หนา 8 ซม. บริเวณคอแสดงลักษณะเป็นโหนกชัดเจน จนเป็นที่มาของชื่อ “จิบบัส” ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดรูปสี่เหลี่ยมและมีเกล็ดตรงสันกลางหลังที่ยาวแหลมคล้ายหนาม มีกระดูกปิดส่วนแก้ม กระดูกที่ล้อมรอบเบ้าตา มีน้อยชิ้น และกระดูกปิดเหงือกมีรูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ส่วนในการศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของปลากระดูกแข็งที่มีก้านครีบในกลุ่มจิงกลีโมเดียน(กลุ่มปลามีเกล็ดสี่เหลี่ยม) ทั้งหมด 25 สกุล พบว่า ปลาสกุลโคราชอิกธิส แสดงลักษณะพื้นฐานที่สุดของปลาในอันดับ เลปิซอสติฟอร์ม (Lepisosteiformes) หรืออันดับอัลลิเกเตอร์การ์ (ปลาปากจระเข้) นั่นแสดงว่าเป็นพวกปลากลุ่มแรกๆ สุด หรือมีวิวัฒนาการต่ำสุดในอันดับปลาดังกล่าว นอกจากนี้ ปลาโคราชอิกธิส ยังเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความหลากหลายของปลาจิงกลีโมเดียน ที่พบในหมวดหินภูกระดึงของไทยอีกด้วย และจากความหลากชนิดของปลาจิงกลีโมเดียนดังกล่าวซึ่งพบในสภาพแวดล้อมน้ำจืดของช่วงเวลาตั้งแต่กลางยุคจูแรสซิกถึงต้นยุคครีเทเชียสของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการครอบครองพื้นที่แหล่งน้ำจืดของปลาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
DSC_2595
DSC_2603 DSC_2606