4 May 2024


(ชมคลิป)โคราชสุดยอด! เปิดตัว “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปี

Post on: Nov 22, 2019
เปิดอ่าน: 446 ครั้ง

 

โคราชเปิดตัวค้นพบ  “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนอายุราว 115 ล้านปี เผยเร่งเตรียมพร้อมพื้นที่รับ UNESCO ประเมินการเสนอจัดตั้ง “โคราชจีโอพาร์ค” เพื่อรับรองเป็นมรดกโลก

 วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” โดยมี นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ ผศ.ดร..อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา Prof. Dr. Yoichi Azuma ผู้อำนวยการพิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น  ผศ. ดร. ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ  และ นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยฯ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าว ได้รับความสนใจจากส่วนราชการผู้นำชุมชน เข้าร่วมกว่า 100 คน

สำหรับ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ หรือ Siam raptor suwati ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี  อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติ แก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มาถึง 25 ปี

สยามแรปเตอร์ มาจากการศึกษา ค้นคว้า จากฟอสซิล รวมทั้งสิ้น 22 ชิ้น ซึ่งประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกร บน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้า ฟอสซิลดังกล่าวคาดว่ามาจาก สยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว

สยามแรปเตอร์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา โดยมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียน จากการอธิบายลักษณะทางกายภาคของตัวอย่าง ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากหลายและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม สยามแรปเตอร์ จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม ที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบนี้ ถือเป็นหลักฐานว่าไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ ได้มีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ตั้งแต่ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือ เมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน

การวิจัยครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันสำรวจและขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ผลการขุดค้น ในปี พ.ศ. 2554 ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” (Ratchasimasaurus suranareae; Shibata et al., 2011) ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร ACTA GEOLOGICA SINICA

ต่อมาปี พ.ศ. 2558 มีการค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส”(Sirindhorna khoratensis; Shibata et al., 2015) ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE และล่าสุดในปีนี้ ผลงานวิจัยการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก นำโดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ Dr. Soki Hattori Dr. Elena Cuesta ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล Dr. Masateru Shibata และ Dr. Yoichi Azuma ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสาร PLOS ONE (https://doi.org/10.1371/journal.pone.0222489) เผยแพร่ออน ไลน์ไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นเรื่องขอรับรองอุทยานธรณีโคราช หรือ โคราชจีโอพาร์ค (khorat Geopark) ต่อ ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อรับการประเมินรับรองเป็นมรดกโลก ซึ่งหากผ่านการรับรองโคราชจะกลายเป็นอุทยานธรณี1 ใน 3 แห่งของโลก จะทำให้โคราชเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดในด้านการท่องเที่ยวด้วย

โดยในปีหน้าทางยูเนสโก จะส่งเจ้าหน้าที่ลงมาประเมินชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ และส่วนที่เกี่ยวข้องหากไม่มีปัญหา คาดว่าต้นปี 2564 เราจะได้รับข่าวดี และเป็นความโชคดีที่ช่วงนี้ทางญี่ปุ่นจะให้การช่วยเหลือด้วยการเข้ามาติวเข้มให้ก่อนเพราะเขาเคยมีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด