28 April 2024


เดินหน้ากัญชา! อนุทิน ลุยตรวจเยี่ยม รพ.มหาราชโคราช ติดตามลดแออัดผู้ป่วย เปิดคลินิกกัญชาแห่งแรกอีสาน

Post on: Aug 18, 2019
เปิดอ่าน: 409 ครั้ง

 

“อนุทิน” รมว.สาธารณสุข ควง รมช.พาณิชย์ และคณะลุยตรวจเยี่ยม รพ.มหาราชนครราชสีมา ติดตามความคืบหน้าลดแออัดผู้ป่วยไร้รอยต่อทั่วนครชัยบุรินทร์ พร้อมเปิดคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกของอีสาน

 วันนี้ (17 ส.ค. ) ที่อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อตรวจเยี่ยมงานตามนโยบายรัฐบาล

พร้อมร่วมลงนามและเป็นสักขีพยานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ระบบส่งต่อผู้ป่วยใน (IPD) เตียงกลาง จังหวัดนครราชสีมา” ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 นครราชสีมา และโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอีก 8 แห่ง

โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา , นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข   เขตสุขภาพที่ 9, นพ.นรินทร์รัชต์  พิชญคามินทร์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา  และ นพ.ชุติเดช  ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พร้อม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนมากให้การต้อนรับ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักทั้งนี้ในงานดังกล่าวมีการบรรยายสรุปความก้าวหน้าของโครงการ “ลดแออัด ไร้รอยต่อ ทั่วนครชัยบุรินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา” ซึ่งเขตสุขภาพที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  และสุรินทร์  จำนวน 88 อำเภอ  ประชากร 6.7 ล้านคน หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 90 แห่ง ในปีงบประมาณ 2560 – 2561 อัตราการ ครองเตียงเฉลี่ยรวมของโรงพยาบาลทั้ง 4 จังหวัด เท่ากับร้อยละ 108.65 และ 112.71 ตามลำดับ แสดงถึงวิกฤตปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีจำนวน 1,300 เตียง  แต่มีผู้ป่วยใน 1,400 – 1,640 รายต่อวัน

 เป้าหมายการพัฒนาเพื่อ “ลดแออัด ไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพ การบริการ มุ่งประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ได้กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้  ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็ง ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาศักยภาพสถานบริการ  ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบสนับสนุน

ผลการพัฒนาเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 มีความก้าวหน้า ทุกจังหวัดดำเนินการโรงพยาบาลคู่พันธมิตร และแบ่งปันทรัพยากร มีต้นแบบนวัตกรรมการจัดบริการ Buddy hospital  มีการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง หรือกึ่งเฉียบพลันในระดับเขต โดยทุกโรงพยาบาลจัดเตียงรองรับผู้ป่วย กลุ่มดังกล่าว  และทุกจังหวัดจัดระบบ Car pool ambulance ลดปัญหาการมีผู้ป่วยในค้างกลับที่โรงพยาบาลศูนย์สาเหตุจากไม่มีรถมารับ

ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แก้ปัญหาความแออัดจากสภาพโครงสร้าง อาคารที่คับแคบ  โดยเปิดใช้อาคารกุมารเวชกรรม 10 ชั้น พร้อมมีแผนจัดสรรพื้นที่ที่ว่างของอาคารผู้ป่วยใน 8 ชั้น รองรับผู้ป่วยอายุรกรรม และผู้ป่วยหนักศัลยกรรมสมอง

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2563เขตสุขภาพที่ 9 มีแผนพัฒนา Smart PCC การปิดช่องว่างโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายให้เข้มแข็ง และการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มที่จังหวัดนครราชสีมา จัดระบบเตียงสำรองกลาง 115 เตียง  เพื่อรองรับผู้ป่วยทุติยภูมิเขตเมือง  ปัจจัยความสำเร็จในปีแรกของโครงการ  เกิดจากผู้นำชี้ทิศทางชัดเจน เยี่ยมเสริมพลังบูรณาการกับการตรวจราชการ ติดตามกำกับรายงานความก้าวหน้าสม่ำเสมอทุกเดือนในการประชุม เขตสุขภาพ พร้อมทั้งมีทีมงานชาวสาธารณสุขที่มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม

พร้อมกันนี้ ชมรมหมอพื้นบ้านได้มอบยาพื้นบ้านที่ส่วนผสมของกัญชา  ให้กับ นายอนุทิน  เพื่อส่งมอบต่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อใช้พัฒนางานวิจัยต่อไป

จากนั้น นายอนุทิน ได้เปิดคลินิกกัญชาเพื่อการรักษา ทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นแห่งแรกในภาคอีสาน ที่เตรียมจะเปิดให้บริการแก่ประชาชน ที่ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก จะเป็นคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ที่ให้บริการ ดังนี้ 1. บริการรักษาผู้ป่วยด้วยน้ำมันกัญชาและยาตามตำรับแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ  ซึ่งการรักษานี้ต้องมีข้อบ่งชี้ที่ตรงตามข้อเกณฑ์ การใช้กัญชาแล้วเกิดประโยชน์ ปลอดภัย และ 2.ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค

ทั้งนี้  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้กำหนดวันและเวลาการให้บริการของคลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ วันจันทร์ – วันศุกร์  เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์  เวลาทำการ  8.30 – 16.00 น.  สอบถามเพิ่มเติมที่ กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา  โทรศัพท์ 044-235972 และ 044-232240  เฉพาะวันและเวลาราชการ