30 April 2024


มทส.โคราชจับมือ ส.วิจัยวัสดุระดมผู้เชี่ยวชาญในและ ตปท.ประชุมวิชาการนานาชาติ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล

Post on: Jun 24, 2019
เปิดอ่าน: 372 ครั้ง

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2: The Second Materials Research Society of Thailand International Conference” ระหว่างวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะซายน์ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า 15 ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ร่วมประชุมและนำเสนอผลงานทางวิชาการ หวังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดงาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. และ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “ มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจากสมาคมวิจัยวัสดุ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2” ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และ IEEE Magnetics Society ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวัสดุศาสตร์และการบูรณาการศาสตร์นี้กับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องด้วยความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูงมากในปัจจุบัน การประชุมวิชาการครั้งนี้จะเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีทางด้านวัสดุศาสตร์ เกิดความร่วมมือทางวิชาการที่จะเป็นแรงผลักดันในการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ นำไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การพัฒนาผลงานวิจัยที่ตอบโจทก์และแก้ปัญหาของประเทศ สร้างประโยชน์สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ตามนโยบายการบริหารงานของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. ในฐานะนายกสมาคมวิจัยวัสดุ เผยว่า “สมาคมวิจัยวัสดุ หรือ Materials Research Association ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบุคคลที่ทำงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรมวัสดุ รวมไปถึงวิศวกรรมวัสดุ โดยเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางวิชาการ การจัดอบรมและเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนให้การยกย่องและเชิดชูนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร นวัตกร ที่ทำงานวิจัยในด้านนี้ ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ สมาคมได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกของ International Union of Materials Research Societies (IUMS) ในปี 2560 และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 1” ขึ้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า 15 ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ประมาณ 800 คน ประกอบด้วย วิทยากรบรรยายรับเชิญ 120 คน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย และ ออสเตรเลีย ผู้นำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ 400 คน ผู้เข้าร่วมประชุม 100 คน และบุคลากรจากหน่วยงานร่วมจัดการประชุม 220 คน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล สนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติที่มี Peer Review เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

สำหรับหัวข้อการประชุมประกอบด้วย 17 Symposia ครอบคลุมในทุกศาสตร์ของวัสดุและการประยุกต์ใช้ที่ตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ทั้ง Old S-curve และ New S-curve ได้แก่ (1) Emerging Solar PV, Energy Storage Materials and Energy Harvesting Materials (2) Graphene and Carbon Materials (3) Dielectrics, Piezoelectrics, Ferroelectrics, Thermoelectrics and Superconductors (4) Magnetic Materials and Their Applications (5) Materials in Design Manufacturing and Applications (6) Ceramic  and Glass Technology (7) Polymers, Rubber, Bioplastics, colloid and emulsion (8) Biomaterials and Applications (9) Sensors, Organic Electronics and Printed Electronics (10) Composites and Construction Materials (11) Computational Material Sciences (12) Surface Sciences,  Tribology and Thin  Film Technology (13) Catalyst and Materials Chemistry for Green Environment (14) Instrumentation and  Advanced Material  Characterization (15) Future of Materials: Education, Research and Industry (16) Rheology (17) Quantum Materials and Technologies

การประชุมครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สาขาเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และจำเป็นอย่างยิ่งในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ เพื่อผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 สำหรับ 5 อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศต่อไป”