เตรียมพร้อมรับภาวะวิกฤติ! โคราชจัดงาน “รวมพล คนกู้ภัย นครชัยบุรินทร์” น้อมนำหลักการทรงงานในหลวง ร.9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้านผู้ว่าฯ ชี้ภัยพิบัติทวีความรุนแรงต่อเนื่อง คนกู้ภัยเป็นกำลังสำคัญในการเข้าช่วยเหลือประชาชน เน้นการรับวิกฤติน้ำท่วมเพื่อนำมาใช้งานได้จริงทั้งในเขตเมืองและพื้นที่โดยรอบที่โคราชเผชิญทุกปี
วันนี้ ( 15 มี.ค.) ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นาย วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการ “รวมพลคนกู้ภัย นครชัยบุรินทร์ ประจำปี 2561 “ โดยมี นาย ชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิการบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นาง ปิยะฉัตร อินทรสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
สำหรับการจัดโครงการดังกล่าวได้น้อมนำหลักการทรงงานใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการดำเนินโครงการ รวมพลคนกู้ภัย เพื่อสร้างความรู้จักคุ้นเคยกับเครือข่ายต่าง ๆ รับฟังความคิดเห็น สร้างความร่วมมือในการทำงานในระดับพื้นที่เดียวกัน รวมทั้งในศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวมถึงนำนโยบายรัฐบาล “ ประชารัฐ “ มาขับเคลื่อนในพื้นที่ สร้างความรักความสามัคคีพัฒนาทักษะความสามารถ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสาธารณภัย และการช่วยเหลือประชาชนให้เป็นระบบ รวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนสูงสุด
นาย วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ด้านการช่วยเหลือประชาชนจากภัยวิบัติต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วม วาตภัย ต่างๆ ล้วนต้องอาศัยอาสาสมัครเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในจุดเกิดเหตุ หากได้ทำการซักซ้อมทำความเข้าใจกัน การปฏิบัติงานในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ก็จะราบรื่นบรรทุกเป้าหมายได้
สำหรับปีนี้ ตนได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ซักซ้อมการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี ไม่เฉพาะในเขตตัวเมืองเท่านั้น แต่พื้นที่โดยรอบเขตเมืองก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน หากมีการซักซ้อม ทำความเข้าใจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขั้นก็จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ประสบความสำเร็จ บรรทุกเป้าหมาย วางแผนการการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยหรือสั้นที่สุด โดยในปีนี้จะมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในงานกู้ภัยเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวรวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อการช่วยชีวิตประชาชน เช่น โดรน ชุดผจญเพลิง ลูกบอลดับเพลิง เป็นต้น