กรมอนามัย จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่
วันนี้ (15 ม.ค.) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2561 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า มาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กของไทยยังไม่เหมาะสมและ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องสุขภาพของทารกและเด็กเล็กผ่านการคุ้มครองให้มารดาและครอบครัวได้รับข้อมูล ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ส่งผลให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กพ.ศ. 2560 สำเร็จเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ในการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในสังคมไทยให้ยั่งยืนในอนาคต และเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 มีประสิทธิภาพ สาระของกฎหมายจึงได้กำหนดกรอบเวลาการจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จำเป็นต้องออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและ เด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับจากวันบังคับใช้
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงได้จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จำเป็นต้องออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและ เด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ขึ้นในครั้งนี้ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในการจัดกระบวนการและแนวทางการรับฟังความคิดเห็น และผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย หน่วยงานทั้งภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน องค์กรวิชาชีพ สมาคม มูลนิธิ นักวิชาการ แพทย์ พยาบาล และประชาชนทั่วไปที่สนใจจำนวนประมาณ 400 คน ได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรซึ่งเป็นอนุกรรมการและเป็นกรรมการในคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงเนื้อหาสาระและที่มาของ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จำเป็นต้องออกตามพระราชบัญญัติฯ และเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศฯ ให้มีความสมบูรณ์และสามารถนำไปบังคับใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
“ทั้งนี้ การโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ต้องมีการควบคุมให้เป็นไปในลักษณะที่เหมาะสม ไม่ใช้วิธีการที่ชักจูงให้ประชาชนเกิดการใช้โดย ไม่จำเป็น ทั้งนี้คาดหวังว่าการจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติจะสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และหลังจากนั้นการบังคับใช้กฎหมายน่าจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด