4 May 2024


ห่วงสังคมไม่รับ! โคราชตั้งทีมสร้างความเข้าใจรับผู้ป่วยหายโควิด-19กลับบ้านสั่งปิดสถานีขนส่งโคราชงดเดินรถข้ามจังหวัด

Post on: Apr 10, 2020
เปิดอ่าน: 519 ครั้ง

 

โคราชเต้นตั้งทีมสร้างความเข้าใจชุมชนหลังต้านหนูน้อยโควิดวัย1ขวบที่รักษาหายแล้วไม่ให้กลับบ้านจนต้องย้ายไปกักตัวอีก รพ. พร้อมสั่งปิด สถานีขนส่ง4แห่งและหยุดเดินรถสายโคราช-กทม.และตจว.ตัดการระบาดโควิด-19

 เมื่อช่วงบ่ายวันนี้(10 เม.ย. 63) ที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล,นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และ พญ.ศุภมาส ลิ่วศิริรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันรวมทั้งการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโดยวันนี้ จังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อจำนวน 577 ราย (เก่า 556 +ใหม่ 21 ราย) แบ่งเป็นพบผู้ป่วยยืนยันโรค COVID-19 จำนวน 18 ราย (ใหม่ =0 ราย) (โดยผู้ป่วยยืนยัน 18 คน แบ่งเป็น รักษาหาย 4 ราย(เคสที่ 4,3,5,9), มีอาการดีขึ้น 11 ราย และอาการคงที่ 3 คน) ไม่พบเชื้อ จำนวน 548 ราย (เก่า 532+ใหม่ 16ราย) รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 11 รายโดยเป็นผลจากการดำเนินงานคัดกรองประชาชนจำนวน 61,828 ราย(ยอดสะสม ณ วันที่ 3 ม.ค – 10 เม.ย 2563 เวลา 11.00 น.)

ส่วนกรณีการเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ(PN) มีจำนวน 276 ราย(ใหม่=0 ราย) ไม่ป่วย 276 ราย กักตัวครบ 14 วัน จำนวน 239 ราย ปัจจุบันติดตามต่อเนื่องจำนวน 37 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เดินทางจากประเทศพื้นที่เสี่ยง(ตั้งแต่ 31 มี.ค.2563-10 เม.ย 2563) และต้องกักตัว รวมจำนวน 62 ราย (อเมริกา 2,ญี่ปุ่น1, กัมพูชา 26, มาเลเซีย10,ไอซ์แลนด์1,สปป.ลาว 3, หมู่บ้านเสี่ยง 15 และออกจาก รพ. 4 คน ) ซึ่งกักตัวที่ รพ.มทส. 46 ราย, รร.ปัญจดารา 9 ราย, ศูนย์วิจัยฯ สูงเนิน 3 ,รพ.สูงเนิน1 และ รพ.พิมาย 2 รพ.โชคชัย1คนเป็นเด็ก1ขวบ2เดือนที่ชาวบ้านต่อต้านไม่ยอมรับให้กลับมาอยู่ในหมู่บ้าน

จากข้อมูลโปรแกรม COVID 19 KORAT พบว่ามีผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดนครราชสีมา รายงานครบทั้ง 32 อำเภอ รวม 24,964 ราย เฝ้าระวังครบ 14 วันจำนวน 16,527 ราย ปัจจุบันติดตามต่อเนื่องจำนวน 8,437 ราย
ทั้งนี้จังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดต่ออันตราย ตามคำสั่ง จังหวัดนครราชสีมา คำสั่งที่ 3762/2563 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ประกอบด้วยการปิดอ่างเก็บน้ำ ทั้งหมดในพื้นที่จำนวน 29 อ่าง และ มีคำสั่งที่ 3763/2563 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 ในการประกาศห้ามร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุรา ตาม พรบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 จำหน่ายสุรา โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้ อีกทั้ง คำสั่งที่ 3761/2563 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2563 ในการปิดสนามกีฬาทั้งในร่มและกลางแจ้ง อาทิ โรงยิมเนเซียม หรือในลักษณะอาคาร สนามกรีฑา สนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล สนามตะกร้อ สนามฟุตซอล หรือในลักษณะคล้ายกันเป็นการชั่วคราว

นอกจากมียังมีคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการ เผยระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(Covid-19) ช่วงเทศกาลสงการนต์ในเขตจังหวัดนครราชสีมา (ฉบับที่ 5) ห้ามการจัดงานสงกรานต์ทุกระดับ ห้ามเล่นสงกรานต์เช่น การฉีดน้ำ สาดน้ำ พ่นน้ำ ปะแป้งในที่สาธารณะ ห้ามใช้รถยนต์เปิดท้ายกระบะ นำถังน้ำใส่ท้ายกระบะ เล่นสงกรานต์บนถนน ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในการปฏิบัติตามแนวทางรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีขอพรญาติผู้ใหญ่ อาจเลือกการขอพรทางช่องทางออนไลน์ หรือทางการสื่อสารทางโทรศัพท์ หากอยู่ในครอบครัวเดียวกัน และควรทิ้งระยะห่างกัน 2 เมตร ร่วมกับมาตรการ ล้างมือทั้งวัน กินร้อน ช้อนฉัน ห่างกัน 2 เมตร และสวมหน้ากากผ้าทุกคนในรายที่ไม่ป่วย สำหรับผู้ป่วยขอให้ สวมหน้ากากอนามัยทุกคน นอกจากนี้ มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อโคราช” ซึ่งจะช่วยให้การระบาดของโรคนี้ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ชาวโคราชเรา ร่วมฝ่าวิกฤติ โควิด -19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกันนี้ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมามีมติปิดสถานีขนส่งทั้ง 4 แห่งประกอบด้วย สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่1,2 สถานีขนส่งฯ อ.พิมายและ อ.โชคชัย เวลา19.00น.-05.00น.รวมถึงปิดเส้นทางเดินรถหมวด2(โคราช-กรุงเทพฯ)และหมวด3 (โคราช-ต่างจังหวัด) ให้เดินรถเฉพาะหมวด4 วิ่งระหว่างอำเภอ ตั้งแต่วันที่10เม.ย.2563เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ให้ทางสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้ตั้งคณะทำงานในการสร้างความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยรักษาหายจากโควิด-19แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้านในชุมชนหรือหมู่บ้านเช่นกรณีของเด็ก1ขวบ2เดือนชาวบ้านท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมาที่ชุมชนไม่ยอมรับจึงต้องย้ายไปกักตัวที่ รพ.โชคชัยแทน