1 May 2024


“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ฉลาดใช้ดิจิทัล”เอไอเอส ห่วงใยคนไทยยุคโควิด-19

Post on: Apr 15, 2020
เปิดอ่าน: 412 ครั้ง

 

“อยู่บ้ผลาน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ฉลาดใช้ดิจิทัล”เอไอเอส ห่วงใยคนไทยยุคโควิด-19 หลังสำรวจชี้ เด็กไทยเสี่ยงภัยบนโลกออนไลน์มากขึ้นแนะเร่งพัฒนาทักษะ DQ ของเด็กไทย พร้อมส่งชุดการเรียนรู้ DQ สุดสนุกให้ครอบครัวไทยได้ทำร่วมกันส่งเสริมการรู้เท่าทันและผลักดันสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน

จากวิกฤตแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดมาตรการ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้วิถีชีวิตของทุกคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อทุกคนจะต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน โลกดิจิทัลออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทในการตอบสนองไลฟ์สไตล์ และกิจวัตรประจำวันของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็น การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การเรียนจากที่บ้าน (Learn From Home) หรือการเลื่อนเปิดเทอม ซึ่งทำให้ทุกคนผูกติดอยู่กับสื่อดิจิทัลออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ดังนั้นการตระหนักถึงภัยคุกคามจากสื่อออนไลน์ และการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลจึงจำเป็นที่ทุกคนในสังคมต้องให้ความสำคัญ  “โครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์” เป็นหนึ่งในตัวอย่างโครงการของภาคเอกชน ที่มีเป้าประสงค์ในการสร้างภูมิคุ้มกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก ให้คนไทยเกิดการตระหนักรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเพื่อให้ใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย  ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญในขณะนี้ ประกอบกับบรรยากาศในช่วงวันครอบครัว 14 เมษายน เอไอเอส จึงขอใช้โอกาสนี้ชวนเชิญทุกครอบครัวมาร่วมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในช่วงวันหยุดยาว ด้วยชุดการเรียนรู้ 8 ทักษะการเอาตัวรอดและรับมือภัยบนโลกออนไลน์ สนับสนุนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ฉลาดใช้ดิจิทัล”

นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มุ่งมั่นพัฒนา Digital Infrastructure เพื่อประเทศ ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยมาให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดังนั้นการเสริมภูมิคุ้มกัน และจิตสำนึกบนโลกออนไลน์ จะเป็นการสร้างเกราะกำบังที่แข็งแกร่งทั้งในด้านภูมิปัญญา (Intellectual) และด้านจิตใจ อีกทั้งถือเป็นการติดอาวุธเสริมทักษะของคนไทยในยุคแห่งดิจิทัล (Digital Nation) อีกด้วย

 พบเด็กไทยเสี่ยงภัยบนโลกออนไลน์มากขึ้น

จากรายงานของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ระบุว่า ในปี 2562 เด็ก Generation Z มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตในวันหยุดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เยาวชนที่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงผลกระทบอีกด้านที่ตามมาคือ ภัยบนโลกไซเบอร์ โดยผลสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) ซึ่งจัดทำโดยสถาบัน DQ (DQ Institution) ที่เอไอเอสได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ นำชุดการเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ มาให้คนไทยได้ใช้งานฟรีนั้น ได้เผยผลสำรวจ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2562 จำนวน 145,426 คน ใน 30 ประเทศสมาชิก พบว่าจำนวน 2 ใน 3 ของเด็ก กำลังเผชิญอันตรายในโลกไซเบอร์

โดยจากผลสำรวจในประเทศไทย พบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ที่น่าเป็นห่วง 3 ประการ ได้แก่ 1. การถูกรังแกบนออนไลน์ (Cyberbullying) เช่น การโพสต์ดูหมิ่นกลั่นแกล้ง การร่วมกันเพิกเฉยและชักชวนให้คนอื่นไม่คบหาพูดคุยด้วยในออนไลน์ 2. การกระทำที่จะทำให้เสียชื่อเสียง (Reputation Risks) เช่น การโพสต์ประจานล้อเลียน การโพสต์รูปหรือคลิปที่แอบถ่ายหรือไม่เหมาะสมเพื่อสร้างความขบขัน ให้ผู้อื่นอับอาย และ 3. ความเสี่ยงในการติดต่อออนไลน์ (Risky Contacts) เช่น การถูกล่อลวงเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูล และการล่อลวงเพื่อทำไปสู่การคุกคามในชีวิตจริง

ทั้งนี้ยังพบอีกว่าเด็กไทยควรได้รับการพัฒนาความสามารถในการใช้สื่อและอุปกรณ์ดิจิทัล ใน 4 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ (Digital Citizen Identity) ใช้ตัวตนจริงบนโลกออนไลน์ไม่ปลอมแปลงโปรไฟล์, 2. การรับมือเมื่อถูกรังแกออนไลน์ (Cyberbullying Management) สามารถรับมือและจัดการกับการถูกรังแกบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม, 3. การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลที่ปรากฏในโลกออนไลน์ได้ และ 4. การจัดการกับข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) สามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้อย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกัน รายงานชุดนี้ระบุว่า ประเทศไทยมีได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานใน 2 เรื่องคือ 1. Access คือ มีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน Digital Infrastructure ที่ดีและเสถียร ผู้คนในประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดี  และ 2. Cyber Security Infrastructure นโยบายของรัฐบาล รวมถึงจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างป้องกันเด็กจากภัยในโลกออนไลน์

          แม้ว่าการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนในการรักษา แต่เราสามารถช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของภัยในไซเบอร์ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ และกำลังคุกคามชีวิตประจำวันของเยาวชนโดยเฉพาะในยุคที่กิจวัตรประจำวันกำลังผูกติดกับโลกดิจิทัลอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยวัคซีนที่ชื่อว่า DQ

ถึงเวลาทุกภาคส่วนในสังคม ควรมีบทบาทสำคัญที่จะต้องช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของภัยในโลกไซเบอร์โดยร่วมมือกัน กำหนดให้ความปลอดภัยสำหรับเด็กบนออนไลน์เป็นนโยบายสำคัญ ส่งเสริมให้มีหลักสูตรบทเรียนที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับเด็กๆ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการลดอันตรายในโลกออนไลน์  วิธีที่ใช้แล้วเห็นผลมากที่สุด คือพ่อแม่อบรมลูกให้มีระเบียบวินัยในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลตั้งแต่ลูกยังเล็ก และโรงเรียนมีหน้าที่สำคัญในการสอนเรื่องการเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital citizenship)

แนะเร่งพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ ให้เด็กไทย

ด้วยเหตุนี้ “โครงการอุ่นใจไซเบอร์” จึงขอร่วมรณรงค์ให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อชี้แนะ ดูแล และส่งเสริมให้บุตรหลาน มีความตระหนักรู้ถึงภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง หากใช้ดิจิทัลอย่างไม่ระมัดระวัง รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ใน 8 ด้านหลัก ได้แก่

  1. 1.Digital Identity (อัตลักษณ์ออนไลน์)ตัวตนในโลกออนไลน์ให้เหมือนตัวจริง คิด พูด ทำ อย่างถูกต้อง
  2. 2.Digital Use (ยับยั้งชั่งใจ)สามารถควบคุมเวลาตัวเอง ในการใช้งานหน้าจอต่างๆ ได้
  3. 3.Digital Safety (เมื่อถูกรังแกออนไลน์)รู้ตัวเมื่อถูกกลั่นแกล้งคุกคาม และสามารถรับมือพร้อมวางตัวได้เหมาะสม
  4. 4.Digital Security (ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย)สามารถปกป้องตัวเองโดยใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งสามารถแยกแยะโปรแกรมหลอกลวง Spam, Scam และ Phishing ได้
  5. 5.Digital Emotional Intelligence (ใจเขา – ใจเรา)คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น ไม่ด่วนตัดสินใครบนโลกออนไลน์
  6. Digital Communication (รู้ถึงผลที่จะตามมา)สิ่งที่เคยโพสต์ในออนไลน์ ถึงลบแล้วก็จะยังคงอยู่เสมอ และทำให้เราเดือดร้อนในวันข้างหน้าได้
  7. 7.Digital Literacy (คิดเป็น)แยกแยะข่าวสารได้ ว่าข่าวไหนเป็นข้อมูลเท็จ ข่าวไหนเป็นจริง
  8. 8.Digital Right (รู้สิทธิและความเป็นส่วนตัว)รู้จักสิทธิมนุษยชนและสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวได้

โดย เอไอเอสได้ร่วมกับสถาบัน DQ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ที่ศึกษาและวิจัยพัฒนาชุดการเรียนรู้ DQ สำหรับเด็กทั่วโลก โดยเปิดให้ทุกครอบครัว ทุกเครือข่าย (ไม่เฉพาะระบบเอไอเอส) สามารถเข้าไปเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ ที่จำเป็นทั้ง 8 ด้าน ในรูปแบบของอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย และแอนิเมชันสนุกๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/dq โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ