29 April 2024


สร้างชุมชนปลอดภัยไม่จมน้ำรับปิดเทอม!เอไอเอส ส่งพี่อุ่นใจร่วมชุมชนสร้างทักษะป้องกันไม่ให้น้องจมน้ำ

Post on: Oct 10, 2019
เปิดอ่าน: 375 ครั้ง

 

เอไอเอส ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น จัดโครงการ “พี่อุ่นใจร่วมชุมชน สร้างทักษะป้องกันไม่ให้น้องจมน้ำ” ในจังหวัดขอนแก่น หลังจาก พบว่า ในปี 2561 จังหวัดขอนแก่น มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงมากที่สุดจนติด 1 ใน 10 ของประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้นโดยสร้างครูต้นแบบ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ทำหน้าที่ถ่ายทอดทักษะความรู้ด้านความปลอดภัยทางน้ำให้แก่เด็กและเยาวชน และผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กอยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแหล่งน้ำภายในบ้านและรอบบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนสร้างการตื่นตัว เฝ้าระวังป้องกัน เพื่อลดปัญหาเด็กจมน้ำ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ณ โรงเรียนมณีอนุสรณ์ศึกษา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

นายอุดมศักดิ์ โสมคำ หัวหน้าส่วนงานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส กล่าวว่า “ปัญหาเด็กจมน้ำเป็นอันตรายใกล้ตัวที่หลายครั้งมักเกิดขึ้นภายในบ้าน รอบบ้าน หรือแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชนที่อยู่อาศัย จากข้อมูลสถานการณ์การจมน้ำปี 2561 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จังหวัดขอนแก่น มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากการจมน้ำ สูงมากที่สุดจนติด 1 ใน 10 ของประเทศ เอไอเอส เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนมีทักษะชีวิตความปลอดภัยทางน้ำ ที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ จึงได้ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น โรงเรียน และศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตเทศบาลฯ เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางป้องกันอย่างยั่งยืน จนเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ “พี่อุ่นใจร่วมชุมชนสร้างทักษะป้องกันไม่ให้น้องจมน้ำ” ในจังหวัดขอนแก่นขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบ”

สำหรับ โครงการ “พี่อุ่นใจร่วมชุมชนสร้างทักษะป้องกันไม่ให้น้องจมน้ำ” ได้รับความร่วมมือจากทีมผู้เชี่ยวชาญจของศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาถ่ายทอดทักษะความรู้และวิธีการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นให้แก่ครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยและโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง ผ่านคู่มือการเรียนรู้ 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำ เช่น การรู้จักสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ, การสวมเสื้อชูชีพอย่างถูกวิธี, การช่วยคนจมน้ำ ด้วยหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” และการลอยตัวในน้ำ เป็นต้น รวมทั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทักษะความปลอดภัยทางน้ำให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. โดยเริ่มต้นที่ อสม. ประจำศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 3 โนนชัย และศูนย์แพทย์มิตรภาพ โรงพยาบาลขอนแก่น ทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองของเด็กเล็กเมื่อเวลาลงเยี่ยมบ้าน ให้สามารถจัดการแหล่งน้ำภายในบ้านและรอบบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ร่วมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจมน้ำ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึง การจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต และอุปกรณ์ความปลอดภัยทางน้ำ เช่น เสื้อชูชีพ, ท่อพีวีซี และป้ายสัญลักษณ์แจ้งเตือนพื้นที่จุดเสี่ยงภายในชุมชนด้วย

นายสมศักดิ์ วิไลแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ทำให้ครูได้รับความรู้และทักษะความปลอดภัยทางน้ำเพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้น ทางโรงเรียนได้นำความรู้และทักษะเหล่านี้ไปบูรณาการสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียนชั้น ป.1 และวางแผนว่าจะให้เด็กนักเรียนที่ผ่านการฝีกอบรมทักษะความปลอดภัยทางน้ำทั้ง 5 ทักษะไปทดลองฝึกทักษะจริงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อฝึกฝนให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งสามารถช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำด้วยการตะโกน โยน ยื่น และเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำได้ อีกทั้งจะขยายองค์ความรู้ไปยังเด็กนักเรียนในระดับชั้นเรียนอื่นต่อไป”

นายวสันต์ ศรีดรราช หัวหน้า อสม. ชุมชนโนนชัย 1 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “อสม. ได้นำความรู้จากโครงการดังกล่าวมาถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชนเวลาลงไปเยี่ยมบ้าน โดยจะแนะนำพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 1 – 3 ปี ซึ่งถือเป็นวัยที่กำลังซุกซนและชอบเล่นน้ำ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการจมน้ำได้ โดยผู้ปกครองจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงจุดเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่ภายในบ้าน เช่น อ่างน้ำ กะละมัง จะต้องเทน้ำออกหรือมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากการจมน้ำ ซึ่งหากคนในชุมชนช่วยกันป้องกันดูแลลูกหลานของเราให้ห่างไกลอันตรายจากการจมน้ำ ก็จะช่วยลดการสูญเสียเด็กจากการจมน้ำในชุมชนได้”

“เอไอเอส มุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กและชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่เกิดจากพลังของการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ด้วยการสนับสนุนจากเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อเกิดเป็นชุมชนปลอดภัยจากการจมน้ำอย่างยั่งยืน” นายอุดมศักดิ์ กล่าวสรุป