29 April 2024


ระบาดหนัก! พบผู้ป่วยไข้เลือดออกอีสานล่างแล้วร่วม 700 ราย โคราชแชมป์ แนะยึด 3 เก็บป้องกันยุงพาหะนำโรค

Post on: Jun 9, 2018
เปิดอ่าน: 728 ครั้ง

 

 ระบาดหนัก!  พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วร่วม 700 รายโคราชมากสุด ชี้ปีนี้ระบาดเพิ่มอีกเท่าตัว แนะวิธีป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด กำจัดแหล่งเพาะ ยึด 3 เก็บป้องกันได้ 3 โรค

ผอ สคร 9 โคราช-1วันนี้ (8 มิ.ย.) นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์   ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝนว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9  ประกอบด้วย จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา  และ จ.สุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม-6 มิถุนายน 2561 พบมีผู้ป่วย จำนวน 699 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต  โดยจังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 327 ราย รองลงมา  จ.สุรินทร์          พบผู้ป่วย  171 ราย  , จ.ชัยภูมิ   พบผู้ป่วย 101 ราย  และจ.บุรีรัมย์    พบผู้ป่วย 100 ราย  ซึ่งผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมาอีกเท่าตัว กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือกลุ่มนักเรียน อายุระหว่าง 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี

ไข้เลือดออก1ปัญหาสำคัญคือขณะนี้ประชาชนมีความเข้าใจผิดหลายประการ เช่น หลายคนคิดว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ และบางคนคิดเองว่า ถ้าป่วยเป็นไข้เลือดออกก็สามารถซื้อยาแผนปัจจุบันกินเองได้ ซึ่งไม่ถูกต้องยิ่งไปกว่านั้น เกือบร้อยละ 70 คิดว่าการกำจัด “ยุงลาย” ในบ้าน ในชุมชน ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการแต่เพียงอย่างเดียว

ในปีนี้แนวโน้มการระบาดมีพื้นที่เสี่ยงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โดยรูปแบบของการระบาดจะเปลี่ยนไป มีการเสียชีวิตในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากมีโรคประจำตัวด้วย เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น สำหรับผู้มีอาการไข้สูง 2 วันไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง ตามแขนขน ข้อพับ เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ให้สังเกตตัวเอง ลูกหลาน และคนใกล้ชิด หากพบอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

ไข้เลือดออก2สำหรับโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ การกำจัดยุงลายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อลดจำนวนยุงลายให้มากที่สุด ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้ง จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ไข้เลือดออก3 ไข้เลือดออก4