27 April 2024


มทส.จับมือสมาคมวิจัยวัสดุเตรียมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ ISEPD2024 ชูประเด็นเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Post on: Jan 4, 2024
เปิดอ่าน: 475 ครั้ง

 

มทส. ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ISEPD 2024 เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  21-24 ม.ค.นี้

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ จัดแถลงข่าว การประชุมวิชาการนานาชาติ The 22nd International Symposium on Eco-materials Processing and Design (ISEPD 2024) ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. กล่าวต้อนรับ และ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ในฐานะนายกสมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย กล่าวเปิดการแถลงข่าว โดยมี รองศาสตราจารย์ ทนพ. ดร.กระจ่าง ตลับนิล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้บริหารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. และคณะกรรมการจัดงานฯ ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ในฐานะนายกสมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย เผยว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 22nd  International Symposium on Eco-materials Processing and Design หรือ ISEPD 2024 ระหว่างวันที่ 21 – 24 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา โคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุเชิงนิเวศน์ เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านวัสดุและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมความร่วมมือทางงานวิจัยและวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์จาก 8 ประเทศ จากทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และยุโรป ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเยอรมนี ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้เรียนรู้จากนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศและระดับโลก เกิดความร่วมมือการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากล สนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติที่มี Peer Review เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการครั้งนี้กว่า 250 คน”

สำหรับหัวข้อการประชุม ประกอบด้วย 10 Symposia ที่ครอบคลุมในทุก ๆ ศาสตร์ของวัสดุ วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการประยุกต์ใช้ที่ตอบสนองต่อความต้องการของวัสดุในอนาคต ได้แก่

1) Green Manufacturing and Processing of Materials

2)  Advanced Eco-Materials

3)  Energy Conversion and Storage

4)  Environmental Protection Materials

5)  Surface Coatings, Additive Manufacturing and Long-Term Use Materials

6)  Bioinspired and Biocompatible materials for health care

7)  Artificial Intelligence-Based Computational and Data-Driven Materials Engineering

8)  Special symposium 1 : Material Intelligence: Highly-efficiency in-material AI computing

9)  Special Symposium 2: Hydrogen production  and Applications

10)  Special Symposium 3: Materials Education Forum : Education Today, Innovation
Tomorrow

ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบการบรรยายและโปสเตอร์ ทั้งนี้ ผลงานที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจะได้นำไปตีพิมพ์กว่า 140 ผลงาน ใน 7 วารสารระดับสากล นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมทัศนศึกษาเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) การศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และการศึกษาการจัดการขยะและการใช้รถพลังงานไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภายใต้โครงการ ANSEE Khao Yai ซึ่งเป็นหนึ่งในการประยุกต์ใช้งานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอีกด้วย

การประชุมวิชาการนานาชาติ ISEPD 2024 ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก มทส. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (AFM) นับเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านวัสดุของประเทศไทยและมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของสาขาเทคโนโลยีที่ได้รับการชี้บ่งว่าจะเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาวและจำเป็นอย่างยิ่งในระยะ 20 ปีจากนี้ เพื่อผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 สำหรับ 5 อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) อันเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ