เอไอเอส ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเลย แสดงความยินดีกับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และชมรมอสม.จำนวน 4 แห่ง จังหวัดเลย ที่คว้ารางวัลชื่นชมในความมุ่งมั่นก้าวสู่อสม.4.0 ในโครงการประกวดการใช้งาน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 พร้อมถอดบทเรียนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก เพื่อสนับสนุนให้ อสม.นำเทคโนโลยีดิจิทัลและรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมส่งต่อความรู้สู่ประชาชนให้มีสุขภาพดีหนุนระบบสุขภาพยั่งยืน
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในทุกๆด้านเราจึงจำเป็นต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามา โดยเอไอเอส เล็งเห็นถึงสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมีคือทักษะความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆของการดำเนินชีวิตและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เอไอเอส จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้คนไทย รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ได้มีทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยผ่าน “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคม สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนและ อสม.ในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขชุมชนให้เป็นเชิงรุก และหวังว่า อสม.ออนไลน์ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจและทักษะเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ อสม.เพื่อให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนให้เกิดเป็นความรอบรู้ด้านสุขภาพของชุมชนต่อไปได้
เช่นเดียวกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ทั้ง 4 แห่ง ในจังหวัดเลย คือ 1.รพ.สต.นาดอกไม้ 2.รพ.สต.บุฮม 3.รพ.สต.คอนสา และ4.รพ.สต.กกดู่ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลผ่าน แอปฯ อสม.ออนไลน์ ไปส่งเสริมงานสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ พร้อมเข้าร่วมโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 จนสามารถคว้ารางวัลระดับจังหวัด และรางวัลชื่นชมในความมุ่งมั่นก้าวสู่ อสม.4.0 ซึ่งโครงการฯดังกล่าว เอไอเอสได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) และกระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และอสม.นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
“เราเชื่อมั่นว่า อสม.ทุกคนมีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นและมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สมกับเป็นอสม.4.0 และขอชื่นชมและแสดงความยินดีแก่รพ.สต. และชมรม อสม.ทั้ง 4 แห่งในจังหวัดเลย ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งหวังว่ารางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไปด้วยกัน”
นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า ต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมแก่หน่วยบริการสุขภาพ และชมรมอสม. ทั้ง 4 แห่งที่ได้รับรางวัลจากโครงการดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยบริการสุขภาพได้เรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปส่งเสริมกระบวนการทำงานสาธารณสุขชุมชน ที่สำคัญทุกวันนี้ในแวดวงสาธารณสุขมีการพูดถึงเรื่องความรอบรู้สุขภาพ (Health Literacy) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการวางรางฐานที่สำคัญให้กับคนไทยทุกคน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีสมวัยในทุกช่วงชีวิต ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ช่วยให้ประชาชนไทยรู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพของตนเอง ด้วยการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพ จากหลายช่องทางจนสามารถตัดสินใจจัดการสุขภาพของตนเอง และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้นช่องทางในการนำข่าวสารหรือความรู้ต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐไปสู่ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน อสม. เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพไปสู่ประชาชน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขในฐานะองค์กรหลักด้านสุขภาพของประเทศไทยได้มีนโยบายที่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งแบบ Offline และOnline หรือแม้กระทั่ง Social Media ตลอดจนการสร้างสรรค์สื่อที่น่าสนใจในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงประชาชนและเข้าใจง่าย
สำหรับแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยทำให้ อสม. สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเหมาะสมกับบริบทอีกทางหนึ่ง และนอกจากนี้ยังช่วยให้การทำงานระหว่าง อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยบริการสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเกิดการบูรณาการการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ดูแลสุขภาพประชาชนไทยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และเกิดการสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไป