ดีแทคเข้าปรึกษา กสทช อีกครั้งในวันนี้ (17 ก.ค.) ย้ำเงื่อนไขเพิ่มเติมในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz อาจส่งผลต่อภาระให้ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ก่อให้เกิดประเด็นการรบกวนสัญญาณคลื่นความถี่ไม่ได้แก้ไข และส่งผลคุณภาพโครงข่ายระยะยาวสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “การประมูลคลื่นความถี่ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคลื่นความถี่ต่ำย่าน 900 MHz ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศโดยเฉพาะนอกพื้นที่เขตเมือง ขณะนี้ ดีแทคจึงต้องปรึกษาร่วมกับกสทช. เพื่อให้มั่นใจว่าการประมูลคลื่นความถี่จะสร้างประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทั้งรัฐและลูกค้า”
ย้ำประเด็นหลักต่อเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาต 900 MHz
- เงื่อนไขในการอนุญาตข้อ16 ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยมีภาระในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz และผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทางราง จำนวน 4 โครงการซึ่งในเบื้องต้น คาดว่าจะมีประเด็นปัญหา คือ
– ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เชื่อว่าจะสูงกว่าจำนวนเงินที่ กสทช. ลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาทมาก
– ปัญหาในทางปฏิบัติที่ผู้ชนะการประมูลจะเข้าไปดำเนินการติดตั้ง filter ในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตรายเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ ณ วันที่ออกประกาศการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก
– ปัญหาในทางเทคนิคและทางปฏิบัติในการดำเนินการติดตั้ง filter ให้ระบบคมนาคมขนส่งทางรางซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าเป็นระบบอะไร
- เงื่อนไขในการอนุญาตข้อ17. กสทช. สงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ซึ่งในกรณี จะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรกตามเงื่อนไขข้อ 16
ทั้งนี้ เงื่อนไขการประมูลเพิ่มเติมดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ กสทช. นำออกมาประมูล ซึ่งดีแทคได้เข้าหารือกับ กสทช. เพื่อให้การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ประสบความสำเร็จ โดยสามารถนำคลื่นความถี่ต่ำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประโยชน์ของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะส่งผลสร้างรายได้ให้รัฐบาลอีกด้วย