27 April 2024


“กางเกงแมว”โคราช Soft Power ยื่นจดลิขสิทธิ์แล้วชี้ทุกฝ่ายช่วยขับเคลื่อนคือพลังผลักดันแนะต่อยอดสร้างมูลค่า

Post on: Feb 27, 2024
เปิดอ่าน: 2,426 ครั้ง

 

กระแสดีไม่มีแผ่ว!  กางเกงแมว “ soft power “ โคราช ยื่นจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ขณะที่หอการค้าฯ โคราชดันเต็มสูบหลังประสบความสำเร็จสร้างตัวตนผ่านเกมดัง “Free fire”  ขณะที่ตลาดขายผลิตภัณฑ์ลายโมโนแกรมแมวโคราชขายดิบขายดีกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองย่าโมให้คึกคัก  ประธาน YEC โคราชชี้ ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือทุกฝ่าย ต้องพร้อมใจกับขับเคลื่อน สิ่งสำคัญ คือการพูดซ้ำจนเกิดการรับรู้ผ่านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ด้านจังหวัด  อปท.ขานรับ ร้านทอผ้าพื้นที่ถิ่นเร่งผลิตลายแมวออกขาย  

สำหรับกระแสกางเกงแมวที่แรงไม่มีแผ่วหลังสร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ให้ชาวโลกได้รู้จักโคราช โดยการนำกางเกงแมวไปประยุกต์ใช้เป็น “Skin Item” ในเกมชื่อดัง “Free Fire” และยังทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นในโคราชมีหลายคนหันมาผลิตกางเกงแมวขายสร้างรายได้เป็นของตัวเอง ถือเป็น Soft power ที่ตรงคอนเซ็ปการส่งเสริมของรัฐบาลอย่างยิ่ง

นายจิรพิสิษฐ์  รุจน์เจริญ หรือ โจ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ผู้ผลักดันกางเกงแมวให้มีชื่อเสียง เปิดเผยที่มาของกางเกงแมวสั้นๆ ว่า  จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดที่โครงการของหอการค้าร่วมกับการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดในการจัดประกวดออกแบบลาย KORAT MONOGRAM (โคราช โมโนแกรม) สัญลักษณ์เมืองโคราช จนได้ผู้ชนะการแข่งขันและมอบเป็นกรรมสิทธิ์ของจังหวัดในการใช้ประโยชน์ ส่วนผู้ออกแบบได้เงินรางวัลเป็นค่าตอบแทนซึ่งคนออกแบบก็เป็นชาวโคราช จากนั้นหอการค้านำมาต่อยอดด้วยความคิดที่ว่าเอาสิ่งที่มีอยู่มาทำให้จับต้องได้  นี้คือจุดเริ่มต้นของกางเกงแมวโดยล้อมาจากกางเกงช้างที่คนรู้จักเป็นอย่างดี ด้วยลายที่เป็นเองลักษณ์ และราคาที่ไม่แพง จากนั้นก็เป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการมากขึ้น และยังทำให้มีหลายคนหันมาหาประโยชน์จากการทำอาชีพผลิตกางเกงแมวขายเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด

นายจิรพิสิษฐ์  กล่าวอีกว่า สินค้าไม่ใช่ Soft power แต่การสร้างการรับรู้ การที่คนรู้จักโคราชมากขึ้น หรือคนทั่วโลกรู้จักโคราชเพิ่มขึ้น จะผ่านตัวสินค้าหรือผ่านอะไรก็ได้ นั่นต่างหากคือ Sofe power ที่แท้จริงในมุมมองของตน แม้แต่การดันให้กางเกงแมวเข้าไปสู่โลกออนไลน์ด้วยการเป็น “Skin Item” ในเกมส์ชื่อดัง “Free Fire”ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดได้สูงถึง 363 ล้านบาทซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นแบบนี้ในประเทศไทยถือว่ายากมาก แต่กางเกงแมวโชคดีมาก  เพราะก็เป็นการต่อยอด Soft power  ได้มากเกิดความคาดหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้กางเกงแมวมีทางไปข้างหน้า คือ  จากจุดเริ่มต้นคือ เอกชนคิดออกไอเดีย ภาครัฐซัพพอตเรื่องค่าใช้จ่าย  จากนั้นเรามาทำให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เพราะสร้างมูลค่าและรายได้ และต่อมารัฐบาลให้การสนับสนุน จึงทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ และปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่พยายามดึงความเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อาจจะเป็นสัตว์หรือเครื่องปั้นดินเผาหรืออะไรก็ได้นำมาพัฒนาให้เป็นสินค้าหรือสิ่งของที่สามาปราบเหมือนที่โคราชลงมือทำ และพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ให้เป็นกระแส

อย่างไรก็ตามสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นจากนี้ไปคือโคราชจะทำอย่างไรกับชื่อเสียงที่เราได้มาในครั้งนี้ นั้นคือการมูฟออกจากแค่กางเกงแมว เราต้องหาอะไรที่ต่อยอดจากแมวที่คนรู้จักชาวโคราช หรือการสร้างโคราชให้เป็นเมืองที่คนพูดถึง คือ “ Korat Cat” ตอนนี้ตนกำลังทำงานอาร์ตทอย (Art Toy) ใช้ชื่อ “แมวเมื่อย” เป็นสินค้าที่นำเสนอทุกอริยบถของแมว แต่จะไม่ใช่หน้าแมวยิ้ม ซึ่งตนเองได้จดลิขสิทธิ์สินค้าตัวนี้ไว้แล้ว  ตนเองอยากให้ทุกคนเห็นตัวอย่างการต่อยอดที่เป็นรูปธรรม ส่วนใครจะมีไอเดียต่อจากสิ่งที่ตนทำอยู่ก็ทำได้เลย

นายจิรพิสิษฐ์  กล่าวอีกว่า   ล่าสุดตนได้รับการประสานงานจากญี่ปุ่นติดต่อเข้ามาเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อยอดสินค้าท้องถิ่นร่วมกัน เพราะญี่ปุ่นเขาเป็นประเทศที่มี Soft power จากความเป็นพื้นถิ่นมาก   เขามี คุมะมง ที่เมืองคุมาโมโต้ ญี่ปุ่น ที่ใช้คาเรกเตอร์ของหมีควายแก้มแดงมาเป็นทูตการท่องเที่ยวของเมืองเขา การพูดคุยครั้งนี้เราอยากจะต่อยอดและเรียนรู้จากประเทศที่เขาแข็งแกร่งในเรื่องนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้ Soft power ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหลายฝ่าย  นั้นหมายถึง ภาครัฐเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาลจะต้องร่วมมือกันในการผลักดัน  สิ่งหนี่งที่จะต้องคำนึงถึงคือ การที่จะทำให้ Soft power ประสบความสำเร็จได้นั้น มันต้องขึ้นอยู่กับการทำให้คนรับรู้และจดจำ นั้นคือ การพูดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนคนรู้จัก และไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องใหม่ ๆ ขึ้นมาแต่เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่  เรื่องที่ตัวเองมีอยู่แล้วเท่านั้น

ขณะที่ นายจีระศักดิ์ ศรีเพชร พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าหลังจากกระแสกางเกงช้างถถูกต่างชาตินำไปจดลิขสิทธิ์นั้นล่าสุดทางจังหวัดนครราชสีมาโดยนายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายให้ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมายื่นเรื่องของจดลิขสิทธิ์ลาย “โมโนแกรมแมว” เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาได้ยื่นเรื่องไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อยื่นเป็นเจ้าของสิทธิ์ลายกางเกงแมวดังกล่าวแล้วคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางจังหวัดไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ที่จะนำลายดังกล่าวไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์ทางการค้า แต่หากเป็นต่างประเทศที่จะนำลายดังกล่าวไปทำก็ต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดกันก่อน ต้องยอมรับว่าขณะนี้ประชาชนรู้จักกางเกงแมว และมีความต้องการมากขึ้น  ทำให้ร้านค้าใหม่ที่ขายเฉพาะกางเกงแมวเกิดขึ้นหลายร้าน แม้แต่ร้านค้าเดิมที่มีอยู่ก็จะนำกางเกงแมวไปขายในร้าน นอกจากนี้ผู้ประกอบการผลิตผ้าไหมในโคราชก็ยังนำลายแมวไปใช้ และทางจังหวัดได้มีการสนับสนุนให้ข้าราชการสวมใส่ผ้าไทยลายแมวด้วย ล่าสุดทาง อบจ. ได้จัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์กับเหล่าศิลปินดาราก็มีการสวมใส่เสื้อแมวเพื่อเป็นการโปรโมทช่วยจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย