20 April 2024


วิกฤตขยะล้นเมืองโคราช!  กองเป็นภูเขากว่า 2 แสนตันคาดอีก 6 เดือน บ่อฝังกลบเต็ม โรงงานผลิตไฟฟ้าไร้วี่แวว

Post on: Oct 15, 2022
เปิดอ่าน: 367 ครั้ง

 

วิกฤตขยะล้นเมืองโคราช!  กองเป็นภูเขากว่า 2 แสนตันคาดอีก 6 เดือน บ่อฝังกลบเต็ม ขณะที่โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะมีปัญหาไม่เลิกไร้วี่แวว

วันนี้ (15 ต.ค.) นายทวีศักดิ์  พันธ์วิเศษศักดิ์ ปลัดเทศบาลนครนครราชสีมา  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่  7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ผศ.บุญส่ง ไข่เกษ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานเพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นภารกิจการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงพร้อมรวบรวมข้อมูลและเสียงสะท้อนของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต่างบริบท จากนั้นนำไปศึกษาวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและระดมสมองจัดทำเป็นข้อมูลเชิงปฏิบัตินำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อจัดการปฏิรูปปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา มีขนาดพื้นที่ประมาณ 243 ไร่ ตั้งอยู่ในเขต ต.โพธิ์กลาง และ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา แต่ละวันต้องกำจัดขยะมูลฝอยจาก 34 อปท.  และภาคเอกชนในพื้นที่ อ.เมือง อ.หนองบุญมาก อ.โชคชัย และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวมปริมาณเฉลี่ย 550 ตัน แบ่งเป็นขยะในเขตเทศบาล 220 ตันและนอกเขตเทศบาล 320 ตัน แต่ระบบสามารถกำจัดได้วันละ 100 ตัน โดยนำไปใช้ในระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และกระแสไฟฟ้าจำนวน 25,000 หน่วยต่อเดือน คงเหลือขยะสะสมตกค้าง 450 ตัน ได้มอบหมายให้บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขนย้ายขยะส่วนเกิน 350 ตัน ไปกำจัดที่โรงงานใน จ.สระบุรี  และนำขยะ 100 ตัน ไปฝังกลบในบ่อชั่วคราว 50 ไร่ ล่าสุดมีปริมาณขยะสะสมตกค้างกว่า 2 แสนตัน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ประมาณ 6 เดือน บ่อฝังกลบจะไม่มีพื้นที่รองรับและเกิดภาวะวิกฤต

สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางเทศบาลนครนครราชสีมาได้ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ระยะที่ 2 กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9 เมกะวัตต์ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% และต้องรับขยะจากเทศบาลไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าจะสามารถรองรับขยะจาก อปท.อื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 500 ตันต่อวัน ทำให้ต้นทุนการจัดการขยะลดลงจากปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังสร้างความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐานและรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด แต่หลังผ่านขั้นตอนการสรรหาได้ผู้รับจ้าง ปรากฏมีการยื่นฟ้องคดีศาลปกครองนครราชสีมาและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไต่สวนตามคำร้องระบุการจัดซื้อจัดจ้างและการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

  นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์กำจัดขยะฯ โดยนายจำลอง มหิงษาเดช ผู้ใหญ่บ้านหนองปลิงใหม่ หมู่ 9 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง พร้อมพวกได้รอมายื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้ โดยมีผู้แทน ทน.นครราชสีมา รับแทน จากนั้นนายจำลอง เปิดเผยว่า กว่า 10 ปี แม้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขเยียวยา แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเจริญเติบโตของเมือง อัตราการสร้างขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงการจัดกิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญต่างๆในพื้นที่ ขยะทั้งหมดถูกขนมาทิ้งไว้ที่บ่อขยะแห่งนี้ ด้วยปริมาณขยะเพิ่มขึ้นได้สร้างปัญหาทั้งน้ำเสียและกลิ่นเหม็นแสบจมูก หากฝนตกหนักจะมีน้ำจากกองขยะไหลลงสระน้ำธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำตายและช่วงฤดูหนาว กระแสลมพัดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจาย ขณะนี้ลูกบ้านหลายรายล้มป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ขอให้ผู้มีอำนาจช่วยเหลือ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านหนองปลิง หมู่ 3 บ้านหนองโสมง หมู่ 6 และบ้านหนองปลิงใหม่ หมู่ 9 ต.หนองบัวศาลา จำนวนกว่า 1 พันครัวเรือนด้วย