20 April 2024


โคราชเฝ้าระวังน้ำป่า ดินโคลนถล่ม! เตือนพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดปากช่องใกล้วิกฤติ

Post on: Aug 30, 2022
เปิดอ่าน: 395 ครั้ง

 

โคราชเตือนเฝ้าระวังน้ำป่า ดินโคลนถล่ม  สั่ง อำเภอติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ปริมาณน้ำบ้านท่ามะปราง อ.ปากช่อง ใกล้ถึงจุดวิกฤติ ขณะชลประทานติดตามการส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทานและลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยของลุ่มน้ำลำเชียงไกร


วันนี้( 29 สิงหาคม 2565 ) นายวิเชียร  จันทรโณทัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ขณะนี้ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการประกาศแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่บริเวณเชิงเขา พื้นที่ อ.ปากช่อง และอ.วังน้ำเขียว  ซึ่งตลอดเมื่อคืนถึงเช้าวันนี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนวัดได้เมื่อวานนี้ ประมาณ 5 มม. ถึงแม้ปริมาณฯฝนจะเล็กน้อย แต่ด้วยสถานการณ์ฝนที่ตกต่อเนื่องมาโดยตลอด อาจจะทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมบนพื้นที่เชิงเขา และอาจจะทำให้ดินเกิดการอิ่มตัวจนทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้  ซึ่งปริมาณน้ำที่บ้านท่ามะปรางค์ อ.ปากช่อง จุดวิกฤต อยู่ที่ 1.60 เมตร แต่ขณะนี้วัดได้ 1 เมตร ซึ่งได้สั่งการให้ทางอำเภอและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งเหลือเพียง 60 ซม.จะถึงจุดวิกฤต จึงต้องมีการเฝ้าระวัง  ซึ่งหากฝนตกต่อเนื่องอาจจะทำให้พื้นที่ อ.ปากช่องประสบปัญหาน้ำป่าเหมือนปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้ได้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมตลิ่งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง และประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่สูงเชิงเขา ควรเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม และติดตามสถานการณ์น้ำฝนอย่างใกล้ชิด นายวิเชียร กล่าว

ด้านนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชนก ขุนเพชรวรรณ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 ได้ตรวจสอบและติดตามการส่งน้ำจาก ประตูระบายน้ำ ลำเชียงไกร ตอนล่าง ของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ลงลำเชียงไกร ตอนล่าง เพื่อช่วยส่งน้ำให้แก่พื้นที่นอกเขตชลประทาน ตามลำน้ำธรรมชาติ(ลำเชียงไกร) โดยจากการประเมินปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตก และสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะมีฝนต่อเนื่องและมีน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือน พ.ย.65 จึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยให้ ประตูระบายน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.ด่านขุนทด  ส่งน้ำลงในลำน้ำ ช่วงระหว่างอ่างฯ ตอนบน มาถึง อ่างฯ ตอนล่าง ในอัตราการไหล 10 ลบ.ม. ต่อวินาที (ลำน้ำสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 40 ลบ.ม.ต่อวินาที) ส่วนประตูระบายน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จะส่งน้ำลงลำน้ำ ในอัตรา 15 ลบ.ม.ต่อวินาที (ลำน้ำสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 60 ลบ.ม. ต่อวินาที) ทำให้มีน้ำไหลตลอดลำน้ำ จากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน-อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ลงลำน้ำมูล ระยะทาง 170 กม. พื้นที่เกษตรกรรมตลอดลำน้ำ ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ ใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก และยังเป็นการพร่องน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักและหน่วงน้ำ ในกรณีมีน้ำเข้ามากในระยะต่อไปซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัย และจะประเมินน้ำฝนน้ำท่า รักษาสมดุลย์ ทั้งในอ่างเก็บน้ำที่มีข้อจำกัดของขนาด(เล็ก)เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ จึงทำหน้าที่เพียงแก้มลิง คือหน่วงน้ำ (อมแล้วบ้วน) และใช้ประตูระบายน้ำหรือฝาย ช่วยในบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน และรักษาอัตราการไหลของลำน้ำ เมื่อจะสิ้นสุดฤดูฝนจึงเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯทั้งสอง เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ (นอกเขตชลประทาน)